อัพเดตวันที่ 01/11/2565
แนวคิดการบูรณาการเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง
การทบทวนและพิจารณาความสอดคล้องในด้านต่างๆ
- พิจารณาความสอดคล้องกับนโยบายด้านการบูรณาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง เพื่อลดการเวนคืนและการแบ่งแยกพื้นที่ของประชาชน
- พิจารณาความสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และพื้นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น พื้นที่ด่านการค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่และอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ เชื่อมโยงการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านและเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
- การพิจารณาแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อให้เส้นทางโครงการบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางเชื่อมโยงพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่
- การพิจารณาตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยพิจารณาสถานะของโครงการ ทั้งที่ศึกษาความเหมาะสมแล้ว ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง หรือที่ยังไม่ได้มีการศึกษา เพื่อคัดเลือกเส้นทางที่สามารถนำมาปรับปรุงเป็นเส้นทางร่วมกับระบบรางได้
- พิจารณาการเชื่อมโยงเส้นทางการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับโครงการทางรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง ตรวจสอบสถานะของโครงการพัฒนาระบบรางเพื่อเลือกแนวเส้นทางที่สามารถปรับปรุงเป็นเส้นทางร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้
การบูรณาการ
การบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง จะก่อให้เกิดการเดินทางที่สนับสนุนกัน เนื่องจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจะส่งเสริม/อำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยจะใช้ระยะเวลาในการเดินทางสั้นลง ในขณะเดียวกัน ระบบรางจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มโอกาสในการเดินทางขนส่งระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในขั้นตอนการวางแผนและการดำเนินการสำหรับการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง จะวางแผนพร้อมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่รับผิดชอบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและรถไฟ และสำหรับแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง ซึ่งถนนและรางไม่จำเป็นต้องพัฒนาคู่ขนานกันทั้งโครงข่าย แต่จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละช่วง/เส้นทาง
การบูรณาการแผนการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง
การกำหนดแนวเส้นทางการบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับราง
ประเด็นสำคัญที่นำไปใช้ในการกำหนดระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เช่น รูปแบบของระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่เหมาะสมกับประเทศไทย การเชื่อมโยงเมืองหลักและพื้นที่หลักต่าง ๆ ของประเทศ ความต้องการในการเดินทางและขนส่ง การใช้ประโยชน์ที่ดินและขยายตัวของเมือง และการบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง สรุปได้ดังนี้
- รูปแบบของระบบโครงข่ายทางหลวงพิเศษที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ของประเทศ ตอนบนของประเทศไทยมีลักษณะเป็นโครงข่ายแบบตาราง พื้นที่ตอนล่างของประเทศไทยมีลักษณะเป็นโครงข่ายแบบแกนกระดูก และมีโครงข่ายในแนวรัศมีและวงแหวนบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑ
- การเชื่อมโยงเมืองหลักและพื้นที่หลักต่าง ๆ กำหนดเมืองหลักและพื้นที่หลักของประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบกับตำแหน่งประตูการค้า และพื้นที่แหล่งผลิตและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ
- การกำหนดโครงข่ายโดยพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทาง ซึ่งมีความหนาแน่นในเส้นทางรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เส้นทางที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภูมิภาคต่าง ๆ และเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
- การใช้ประโยชน์ที่ดินและการขยายตัวของเมือง นำมาทบทวนระบบโครงข่ายเส้นทางในกลุ่มเส้นทางวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- การบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง โดยพิจารณานำแผนงานการพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง มาตรวจสอบสถานะและพิจารณาความเหมาะสมแนวเส้นทางที่สามารถปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายการบูรณาการการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง รวมถึงเสนอแนะโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาคอขวดและการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง
กรอบแนวเส้นทางบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-Map)
รายละเอียดแต่ละกลุ่มเส้นทาง
เส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก
- MR4 เส้นทางตาก-นครพนม >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง เมียนมา-ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สปป.ลาว
- MR5 เส้นทางนครสวรรค์-อุบลราชธานี >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง เมียนมา-ภาคตะวันออก-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สปป.ลาว
- MR6 เส้นทางกาญจนบุรี-สระแก้ว >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง เมียนมา-ภาคตะวันออก-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สปป.ลาว
- MR7 เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่างภาคกลาง-ภาคตะวันออก-กัมพูชา
- MR8 เส้นทางชุมพร-ระนอง >> รองรับการขนส่งสินค้าทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
- Mr9 เส้นทางสุราษฏร์ธานี-ภูเก็ต >> รองรับการขนส่งสินค้าทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
เส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
-
- MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 >> ลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง / ลดการจราจรของรถยนต์และรถไฟที่จะต้องผ่านเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน
- MR10 เส้นทางส่วนต่อขยายทางพิเศษอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน-สุพรรณบุรี บริเวณวงแหวนด้านเหนือ เส้นบ้านแพ้ว-ปากท่อ บริเวณวงแหวนด้านใต้และเส้นทางจตุโชติ-วงอหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) >> เพื่อเชื่อต่อการเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่ภาคอื่น ๆ
เส้นทางในแนวเหนือใต้
- MR1 เส้นทางเชียงราย-นราธิวาส >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง เมียนมา-สปป.ลาว-ภาคเหนือ-ภาคกลาง-ภาคใต้-มาเลเซีย
- MR2 เส้นทางกรุงเทพ/ชลบุรี-หนองคาย >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง ภาคตะวันออก-ภาคกลาง-ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ-สปป.ลาว-เมียนมา
- MR3 เสน้ทางบึงกาฬ-สุรินทร์/ศรีสะเกษ >> เชื่อมการเดินทางและขนส่งระหว่าง สปป.ลาว-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-กัมพูชา