อัพเดตวันที่  22/06/2566

MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย

ช่วงที่ 3 ขอนแก่น-หนองคาย (ระยะทาง 182 กม.)

ความสำคัญของเส้นทาง
เป็นเส้นทางที่ต่อเนื่องจากช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น เชื่อมโยงการจราจรระหว่างเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) สู่ด่านหนองคาย ซึ่งเป็นหนึ่งในด่านการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศและเป็นประตูการค้าและการเดินทางระหว่างประเทศที่มีศักยภาพสูงในการรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การนำเข้า-ส่งออกสินค้าของไทยและสินค้าผ่านแดนของ สปป.ลาว และจีน เนื่องจากอยู่ในเส้นทางตามยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน รวมทั้ง รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) โดยเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่ NeEC และเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หนองคาย การพัฒนาเส้นทางช่วงนี้จะช่วยกระจายความเจริญและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าการลงทุนในพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เป็นต้น

รูปแบบการพัฒนา
พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระบบเดียว (ไม่ใช้เขตทางร่วมกับระบบราง) ต่อเนื่องจากช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น เริ่มต้นเส้นทางบริเวณอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และไปสิ้นสุดบริเวณด่านหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยแนวเส้นทางยังคงอยู่ทางด้านตะวันออกของทางหลวงหมายเลข 2

รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย
ระยะทางรวมประมาณ 182 กิโลเมตร

แนวเส้นทางโครงการ
มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งแนวเส้นทางจะต่อเนื่องจากแนวเส้นทาง ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น และไปผ่าน อำเภอเชียงยืน ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 12 (ตาก-กาฬสินธุ์) และกลับเข้าสู่พื้นที่ของ จังหวัดขอนแก่น ที่บริเวณพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผ่านพื้นที่ของ อำเภอซำสูง และ อำเภอกระนวน โดยมีแนวเส้นทางมุ่งต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ส่วนหนึ่งของ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ เข้าสู่ จังหวัดอุดรธานี แนวเส้นทางเข้าสู่ จังหวัดอุดรธานี บริเวณพื้นที่ของ อำเภอศรีธาตุ ซึ่งแนวเส้นทางยังคงมุ่งต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ของ อำเภอกุมภวาปี รวมถึงพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของ ทะเลสาบบัวแดง และผ่านพื้นที่ของ อำเภอกู่แก้ว ก่อนที่จะเบี่ยงแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ส่วนหนึ่งของ อำเภอประจักษ์ศิลปาคม เข้าสู่พื้นที่ของ อำเภอหนองหาน ซึ่งแนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 22 (อุดรธานี-นครพนม) จากนั้นแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ส่วนหนึ่งของ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และมีแนวเส้นทางมุ่งต่อไปทางทิศเหนือผ่าน อำเภอเพ็ญ และเข้าสู่จังหวัดหนองคาย บริเวณพื้นที่ของ อำเภอเมืองหนองคาย โดยมีแนวเส้นทางขนานไปทางด้านทิศตะวันออกของถนนทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และไปสิ้นสุดแนวเส้นทางบนถนนเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก)

การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม

    • แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ทั้งหมด 14 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย ลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันต่ำจนถึงความลาดชันน้อย โดยไม่ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A 1AB และ 2 แต่ตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 6 แห่ง ได้แก่ ป่าดงชำ, ป่าดงมูล, ป่าดินแดงและป่าวังกุง, ป่าตำบลเชียงหวาง ป่าตำบลเพ็ญ ป่าตำบลสุมเส้า, ป่าทม ป่าข่า และป่าหนองเม็กและป่าลุมพุก รวมระยะทาง 41.45 กิโลเมตร
    • สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง ประกอบด้วย สถานศึกษา 10 แห่ง ศาสนสถาน 19 แห่ง สถานพยาบาล 5 แห่ง และชุมชน 14 ชุมชน สำหรับโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบ 6 แห่ง ได้แก่ บ้านตูมใต้, วัดเกาะเกษวาธิการาม, บ้านไผ่, แหล่งโบราณคดีบ้านสวนมอญ, สิมวัดพระประดิษฐ์ และวัดวรเขตวนาราม
    • ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 8,998.78 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 419.39 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 1,306.58 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 271.63 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 177.02 ไร่ โดยแนวเส้นทาง มีจุดตัดถนนสายหลัก 1 จุด ถนนชุมชน 75 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 77 จุด

โดยสรุปแนวเส้นทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพฯ/ชลบุรี -หนองคาย ช่วงขอนแก่น-หนองคาย พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล โรงเรียน และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหนึ่งแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

แนวเส้นทาง MR2-3 กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย ช่วงขอนแก่น-หนองคาย

Powered by WordPress Inspiro WordPress Theme by WPZOOM
waktogel togelup aye4d
bocoran rtp slot gacor maxwin sbobet togel kamboja