อัพเดตวันที่ 23/06/2566
MR8 ชุมพร-ระนอง
ความสำคัญของแนวเส้นทาง
- เชื่อมโยงเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ได้แก่ ชุมพร และระนอง
- แนวเส้นทางรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย และ Land Bridge ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าใหม่ (New Trade Lane) เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากเดิมที่ต้องขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกา รวมทั้ง กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ SEC และ พื้นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประเทศจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ระดับสูง
- รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดระนองและภาคใต้ฝั่งอันดามันตอนล่าง ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางและขนส่ง แบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4
- แนวเส้นทางวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยตัดกับแนวเส้นทาง MR1 (เชียงราย-นราธิวาส) ซึ่งเป็นเส้นทางแกนกระดูกในภาคใต้ บริเวณอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทาง MR8 คือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางชุมพร-ระนอง (M83)
รูปแบบการพัฒนา
พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยบูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟสายใหม่ 2 ระบบ คือ ทางรถไฟ Land Bridge ที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ และ ทางรถไฟในโครงข่ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย แนวเส้นทางจะเริ่มที่บริเวณแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และสิ้นสุดที่อ่าวอ่าง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับเส้นทางนครปฐม-นราธิวาส (M8) บริเวณอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
รายละเอียดแนวเส้นทาง
– จุดเริ่มต้นโครงการ : อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
– จุดสิ้นสุดโครงการ : อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
– ระยะทางรวมประมาณ 89 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่าน พื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง
แนวเส้นทางโครงการ
มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่กิโลเมตรที่ 0+000 อยู่ที่บริเวณท่าเรือระนอง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยแนวเส้นทางมีการตัดผ่านทะเลเป็นระยะทาง 5.85 กิโลเมตร ก่อนจะตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (620+267) ใกล้กับบ้านเขาหยวกและบ้านห้วยน้ำใส และตัดกับทางหลวงหมายเลข 4006 (2+792) ที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จากนั้น แนวเส้นทางขนานและตัดสลับในบางจุดกับทางหลวงหมายเลข 4006 โดยมีการตัดกับทางหลวงหมายเลข4006(7+416) ตำบลปากทรง ตัดกับทางหลวงหมายเลข 4006 (29+863) ที่ตำบลพะโต๊ะ แนวเส้นทางเริ่มออกห่างจากทางหลวงหมายเลข 4006ที่ตำบลปังหวาน และตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอพะโต๊ะโดยผ่านบ้านเชี่ยวไทร และผ่านชุมชนบ้านนกยาง ตำบลขันเงิน ตำบลท่ามะลา และตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน หลังจากนั้นตัดกับทางหลวงหมายเลข 41 (65+337) ที่ตำบลวังตะกอ และผ่านพื้นที่ชุมชน แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข 4097 ที่ตำบลบางน้ำจืด ผ่านตำบลแหลมทราย อำเภอหลังสวน ผ่านบ้านเขาปีบใต้ ก่อนจะตัดกับแนวเส้นทางรถไฟซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟหลังสวน และสิ้นสุดกิโลเมตรที่ 80+285 ที่ท่าเรือชุมพร ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จากท่าเรือระนองถึงชายฝั่งมีระยะทาง 1.810 กิโลเมตร และจากท่าเรือชุมพรถึงชายฝั่งมีระยะทาง 3.160 กิโลเมตร รวมระยะทางจากท่าเรือระนองจนถึงท่าเรือชุมพรประมาณ 85.255 กิโลเมตร
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง :
– จังหวัดชุมพร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอพะโต๊ะ
จุดพักรถ (Rest Stop) 2 แห่ง :
– จังหวัดชุมพร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอพะโต๊ะ
– จังหวัดชุมพร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอหลังสวน


แนวเส้นทางของ MR8 ชุมพร-ระนอง