อัพเดตวันที่ 23/06/2566
MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด
ช่วงที่ 2 ชลบุรี-ระยอง
ความสำคัญของแนวเส้นทาง
แนวเส้นทางแยกจากเส้นทางกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง (M7) บริเวณ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ไปยัง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นทางเส้นทางที่จะเชื่อมโยงไปจันทบุรีและตราดได้สะดวกรวดเร็วและเป็นทางเลือกในการเดินทางเพิ่มเติมจากทางหลวงหมายเลข 344 โดยเป็นส่วนของเส้นทางที่จะรองรับการเชื่อมโยงไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด และเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
รูปแบบการพัฒนา
พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ระบบเดียว (ไม่ใช้เขตทางร่วมกับระบบราง) ตลอดแนวเส้นทาง โดยมีเส้นทางต่อเชื่อมกับ MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย)บริเวณทางหลวงหมายเลข 331 หรือ AH19 ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.แกลง จ.ระยอง
ระยะทางรวมประมาณ : 110 กิโลเมตร
แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่
– จ.ชลบุรี 3 อำเภอ : อ.เมืองชลบุรี อ.บ้านบึง และ อ.หนองใหญ่
– จ.ระยอง 4 อำเภอ : อ.ปลวกแดง อ.บ้านค่าย อ.วังจันทร์ และ อ.แกลง
แนวเส้นทางโคงรการ
จุดเริ่มต้นอยู่ที่ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี บริเวณถนนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพ-ชลบุรี) โดยมีแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ อำเภอบ้านบึง จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวเส้นทางเบี่ยงออกจากแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียวทางด้านทิศตะวันตก ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 344, 3138, 331 และแนวเส้นทางของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M61 ก่อนที่จะเข้าสู่ อำเภอหนองใหญ่ ซึ่งแนวเส้นทางยังคงมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3245 ก่อนที่จะเข้าสู่พื้นที่ของ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง แนวเส้นทางมุ่งต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่าน อำเภอบ้านค่าย เข้าสู่ อำเภอวังจันทร์ และตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3471, ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข รย.4022 และ รย.3008 มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอแกลง จากนั้นแนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 344, 3430, ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข รย.4028 และตัดผ่านแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ) จากนั้นแนวเส้นทางจะมีแนวคู่ขนานไปกับแนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ) จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณจุดตัดถนนทางหลวงหมายเลข 3377
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง :
– จ.ระยอง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ปลวกแดง
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 1 แห่ง :
– จ.ชลบุรี: ตั้งอยู่บริเวณ อ.บ้านบึง
จุดพักรถ (Rest Stop) 1 แห่ง :
– จ.ชลบุรี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.บ้านบึง
– จ.ระยอง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.วังจันทร
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันต่ำ เป็นป่าถูกบุกรุก และมีความลาดเอียงเล็กน้อย โดยไม่ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2 แห่ง ได้แก่ ป่าแดง ป่าชุมนุมกลาง และป่าสนม รวมระยะทาง 17.22 กิโลเมตร สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบสถานศึกษา 3 แห่ง ศาสนสถาน 3 แห่ง สถานพยาบาล 2 แห่ง สุสาน 4 แห่ง และชุมชน 21 ชุมชน ไม่พบโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 4,846.67 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 339.83 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 557.99 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 60.42 ไร่ โดยแนวเส้นทางมีจุดตัดถนนสายหลัก 8 จุด ถนนชุมชน 90 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 65 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงชลบุรี-ระยอง พบว่า แนวเส้นทางไม่ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 แต่ตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชนอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหลายแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

แนวเส้นทาง MR7-2 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด ช่วงชลบุรี-ระยอง