อัพเดตวันที่ 23/06/2566
MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด
ช่วงที่ 3 ระยอง-ตราด
ความสำคัญของแนวเส้นทาง
แนวเส้นทางเชื่อมโยงไปยังด่านการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ที่บริเวณด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านจามเยี่ยม อำเภอมณฑลสีมา จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เป็นเส้นทางตามแนวทางหลวงเอเชียสาย AH123 และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ระเบียงย่อยเลียบชายฝั่งด้านใต้ของอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่เชื่อมโยงไปยัง สีหนุวิลล์และกำปอต ในกัมพูชา และสิ้นสุดที่ จังหวัดก่าเมา ทางใต้สุดของประเทศเวียดนาม
รูปแบบการพัฒนา
ช่วงอำเภอแกลง จังหวัดระยองถึงอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับทางรถไฟทางคู่สายใหม่ และทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ส่วนต่อขยายไปตราด) ช่วงจากอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ถึงอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ โดยใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟความเร็วสูง แยกจากทางรถไฟสายใหม่ หลังจากนั้น จากอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ไปจนถึงปลายทางที่บริเวณด่านคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์โดยใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟสายใหม่
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.แกลง จ.ระยอง
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
ระยะทางรวมประมาณ : 181 กิโลเมตร
แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 9 อำเภอ ได้แก่
– จ.ระยอง 1 อำเภอ : อ.แกลง
– จ.จันทบุรี 5 อำเภอ : อ.นายายอาม อ.ท่าใหม่ อ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม และ อ.ขลุง
– จ.ตราด 3 อำเภอ : อ.เขาสมิง อ.เมืองตราด และอ.คลองใหญ่
แนวเส้นทางโคงรการ
จุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางอยู่ที่ อ.แกลง จ.ระยอง บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 3377 แนวเส้นทางมุ่งหน้าลงไปทางทิศตะวันออก วิ่งคู่ขนานไปกับแนวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ) ไปตลอดมีการยกข้ามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ) 2 ครั้ง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.นายายอาม จ.จันทบุรี แนวเส้นทางมุ่งหน้าลงทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3406, ถนนทางหลวงหมายเลข 3, ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข จบ.1011 และ จบ.1008
มีการยกข้ามแนวรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด อีก 2 ครั้ง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.ท่าใหม่ จากนั้นแนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข จบ.1003, ถนนทางหลวงหมายเลข 3, ถนนทางหลวงหมายเลข 3322 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข จบ.1026 และมีการยกข้ามรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อ.เมืองจันทบุรี ซึ่งแนวเส้นทางคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก คู่ขนานไปกับแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) ตัดผ่านถนน
ทางหลวงหมายเลข 3249 เข้าสู่ อ.มะขาม ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข จบ.1030 แนวเส้นทางเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 317 เข้าสู่ อ.ขลุง จากนั้นแนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3277 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข จบ.4017 และเบี่ยงไปทางทิศใต้ มุ่งหน้าเข้าสู่ อ.เขาสมิง จ.ตราด จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ ยังคงวิ่งคู่ขนานไปกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3447, 3158, 3157 และ 3159 มีการข้ามลำน้ำ 2 แห่ง โดยแนวเส้นทางเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แยกทางกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) โดยมีแนวเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด มุ่งหน้าเข้าสู่ อ.เมืองตราด แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามลำน้ำ 2 แห่ง ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3494, 3157, 3271 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.1002 และยกข้ามรถไฟทางคู่ 1 ครั้ง แนวเส้นทางเปลี่ยนทิศไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.1004 จากนั้นมุ่งหน้าตรงยาวลงไปทางทิศใต้เข้าสู่ อ.คลองใหญ่ จากนั้น แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3 และ 3269 และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 3 เชื่อมต่อไปยังด่านคลองใหญ่ได้
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 2 แห่ง :
– จ.จันทบุรี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.มะขาม
– จ.ตราด 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองตราด
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง :
– จ.ระยอง 1 แห่ง: ตั้งอยู่บริเวณ อ.แกลง
– จ.ตราด 1 แห่ง: ตั้งอยู่บริเวณ อ.เขาสมิง
จุดพักรถ (Rest Stop) 4 แห่ง :
– จ.จันทบุรี 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.นายายอาม และ อ.ขลุง
– จ.ตราด 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองตราด และ อ.คลองใหญ
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันต่ำ เป็นป่าถูกบุกรุก และมีความลาดเอียงน้อยถึงความลาดเทสูง โดยผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 เป็นระยะทาง 0.28 กิโลเมตร แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ป่าเขาแกลด ป่าเขาสุกรัม, ป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่ ป่าเขาไฟไหม้) และป่าเขาบรรทัด รวมระยะทาง 10.64 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบสถานศึกษา 15 แห่ง ศาสนสถาน 21 แห่ง สถานพยาบาล 2 แห่ง สุสาน 1 แห่ง และชุมชน 57 ชุมชน พบโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฟากแนวเส้นทางรวม 1 แห่ง คือ วัดน้ำรัก ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 8,041.01 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 503.93 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 2,100.17 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 419.20 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 205.16 ไร่ โดยแนวเส้นทางมีจุดตัดถนนสายหลัก 19 จุด ถนนชุมชน 105 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 189 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงระยอง-ด่านคลองใหญ่ พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 และป่าสงวนแห่งชาติ และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหลายแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม

แนวเส้นทาง MR7-3 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด ช่วงระยอง-ตราด