เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประตูการค้าทางทะเลหลักของประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กับด่านชายแดนไทย-ลาว ที่ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย ร่วมกับรูปแบบรัศมีที่เชื่อมโยงออกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยัง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเชื่อมโยงไปถึงด่านชายแดนไทย-ลาวที่หนองคาย เส้นทางส่วนที่เป็นรัศมีจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะบรรจบกับเส้นทางส่วนเหนือ-ใต้ บริเวณอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศที่ชายแดนจังหวัดหนองคายสามารถเชื่อมต่อทั้งระบบถนนตามทางหลวงเอเชียเส้นทาง AH12 หรือ เส้นทาง R13 ของ สปป.ลาว และระบบรางทั้งรถไฟขนาดทาง 1.00 เมตร ในปัจจุบัน และรถไฟขนาดทางมาตรฐานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ
ความสำคัญของแนวเส้นทาง :
- เชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และฐานการผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง (อาทิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี) กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี
- เชื่อมโยงประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ ด่านหนองคาย (ไทย-ลาว) และประตูการค้าหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยคือ ท่าเรือแหลมฉบัง
- สอดคล้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) ของกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) (เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากแนวคุนหมิง-เชียงราย-กรุงเทพฯ) และเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่ได้มีการก่อสร้างโครงข่ายทางรถไฟจากจีนเชื่อมต่อมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว และเปิดให้บริการแล้ว ส่วนที่ต่อเชื่อมจากนครหลวงเวียงจันทน์และเส้นทางภายในประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ โดยเส้นทางภายในประเทศไทยเป็นเส้นทางเดียวกับโครงข่าย MR2
- เชื่อมโยงจังหวัดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ภาพรวมแนวเส้นทาง :
- แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ : 11 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี และหนองคาย
- ระยะทางรวม : ประมาณ 897 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 196 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทางประมาณ 299 กิโลเมตร
- การเชื่อมโยงโครงข่าย : ตลอดแนวเส้นทาง MR2 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายกับเส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่จังหวัดมหาสารคาม เชื่อมต่อเส้นทาง MR4 (ตาก-นครพนม) ที่จังหวัดนครราชสีมา เชื่อมต่อเส้นทาง MR5 (นครสวรรค์-อุบลราชธานี) ที่จังหวัดปราจีนบุรี เชื่อมต่อเส้นทาง MR5 (กาญจนบุรี-สระแก้ว) และที่จังหวัดชลบุรี เชื่อมต่อเส้นทาง MR7 (กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด)
ที่พักริมทาง (Rest Area) :
- ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) จำนวน 6 แห่ง
- สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 6 แห่ง
- จุดพักรถ (Rest Stop) จำนวน 13 แห่ง
- ทางเข้าออกจำนวน 30 แห่ง
รายละเอียดของแนวเส้นทางช่วงต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 5 ช่วง ดังนี้ (คลิ๊กเพื่อดูรายละเอียดแต่ละช่วง)
ช่วงที่ 1 บางปะอิน-นครราชสีมา (เพิ่มระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-ขอนแก่น (เพิ่มระยะทางประมาณ 204 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 ขอนแก่น-หนองคาย (เพิ่มระยะทางประมาณ 182 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี (เพิ่มระยะทางประมาณ 156 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 5 ปราจีนบุรี-นครราชสีมา (เพิ่มระยะทางประมาณ 159 กิโลเมตร)

รูปแนวเส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย