อัพเดตวันที่ 20/03/2566
MR 1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 2 เชียงราย-แม่สาย
ความสำคัญของเส้นทาง
แนวเส้นทางตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนมีอาณาเขตติดต่อกับ ด่านพรมแดนท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นประตูการค้าระหว่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงไปยังจีนตอนใต้ผ่านทางหลวงเอเชียเส้นทาง R3B ในประเทศเมียนมา
รูปแบบการพัฒนา
พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ระบบเดียว (ไม่ใช้เขตทางร่วมกับระบบราง) ตลอดทั้งแนว
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ระยะทางรวมประมาณ 67 กิโลเมตร
แนวเส้นทางพาดผ่าน 1 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่
– จ.เชียงราย : อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เมืองเชียงราย และอ.เวียงชัย
แนวเส้นทางโครงการ
แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นต่อจากแนวเส้นทางของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงราย-นราธิวาส ช่วงเชียงใหม่-เชียงราย ที่บริเวณ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1232 (เชียงราย-เวียงชัย) ออกจากแนวรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงของ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านแม่น้ำกก เข้าสู่อำเภอเมือง บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1209 (บ้านเด่น-ทล.1098) และทางหลวงชนบทหมายเลข ชร. 1063 (เชียงราย-เชียงแสน) จากนั้นแนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่แนวสันเขาไปทางทิศเหนือ เข้าสู่อำเภอแม่จัน ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1016 (แม่จัน-เชียงแสน) และแม่น้ำคำ และมุ่งไปทางทิศเหนือขนานไปกับทางด้านทิศตะวันออกของถนนทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 1290 (แม่สาย-เชียงแสน) เชื่อมต่อกับถนนทางหลวงหมายเลข 123 (ถนนเลี่ยงเมืองแม่สาย) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังด่านพรมแดนถาวร อำเภอแม่สายแห่งที่ 2 ได้ทางทิศตะวันออก และสิ้นสุดแนวเส้นทางของโครงการที่บริเวณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย
- สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
- จุดพักรถ (Rest Stop) 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันค่อนข้างสูงจนถึงความลาดชันต่ำ โดยผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 เป็นระยะทาง 0.79 กิโลเมตร และตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 1 แห่ง ได้แก่ ป่าดอยถ้ำผาตอง ป่าดอยสันป่าก๋อย ป่าน้ำแม่งาม รวมระยะทาง 15.56 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตร จากสองฟากแนวเส้นทางประกอบด้วย สถานศึกษา 4 แห่ง ศาสนสถาน 12 แห่ง สถานพยาบาล 1 แห่ง และชุมชน 12 ชุมชน สำหรับโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฟากแนวเส้นทาง พบ 3 แห่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปูนปั้น ที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย, วัดสันธาตุ ที่ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และวัดป่ายาง ที่ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 3,676.86 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 227.90 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 92.39 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 111.04 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 31.95 ไร่ โดยแนวเส้นทางมีจุดตัดถนนสายหลัก 4 จุด และถนนชุมชน 27 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 107 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงเชียงราย-แม่สาย พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 และป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ที่ตัดผ่านบางส่วนมีความลาดชันสูง และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหลายแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
รูปที่ 7-2 แนวเส้นทางของ MR1 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงเชียงราย-แม่สาย