อัพเดตวันที่ 20/03/2566
MR 1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 3 เชียงใหม่-เชียงราย
ความสำคัญของเส้นทาง
เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ และ เชียงราย และเป็นการเชื่อมโยงภายในกลุ่มจังหวัดตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) เส้นทางช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางระหว่างทั้งสองจังหวัด
รูปแบบการพัฒนา
ช่วงเชียงใหม่-พะเยาพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ระบบเดียว (ไม่ใช้เขตทางร่วมกับระบบราง) โดยใช้แนวเส้นทางตามการออกแบบรายละเอียดโครงการมอเตอร์เวย์ สายเชียงใหม่-เชียงราย โดยบริเวณ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง จะเป็นทางแยกของสายทาง กล่าวคือ เป็นทางแยกของมอเตอร์เวย์สายเชียงใหม่-ช่วงลำปาง (M52) จากมอเตอร์เวย์สายสุพรรณบุรี-เชียงราย-แม่สาย (M5) เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ อำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นช่วงพะเยา-เชียงราย พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับทางรถไฟโดยใช้เขตทางของโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เชียงราย-เด่นชัย-เชียงของ
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.สารภี จ.เชียงใหม่
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.เวียงชัย จ.เชียงราย
ระยะทางรวมประมาณ 217 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 16 อำเภอ ได้แก่
– จ.เชียงราย 4 อำเภอ : อ.เวียงชัย อ.เมืองเชียงราย อ.เทิง และ อ.ป่าแดด
– จ.พะเยา 3 อำเภอ : อ.ภูกามยาว อ.ดอกคำใต้ และ อ.เมืองพะเยา
– จ.ลำปาง 3 อำเภอ : อ.งาว อ.แจ้ห่ม และ อ.เมืองปา
– จ.เชียงใหม่ 3 อำเภอ : อ.แม่ออน อ.สันกำแพง และอ.สารภี
แนวเส้นทางเส้นโครงการ
แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ บนถนนทางหลวงหมายเลข 11 (เชียงใหม่-ลำปาง) ไปทางด้านทิศตะวันออกตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 1317 (เชียงใหม่-แม่ออน) เข้าสู่อำเภอสันกำแพง เบี่ยงไปทางทิศเหนือก่อนเข้าสู่ชุมชนบ้านป่าไผ่เหนือ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1317 (เชียงใหม่-แม่ออน) อีกครั้งในทางทิศตะวันออก ผ่านพื้นที่ของชุมชนบ้านโห้ง จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขนานไปทางทิศใต้ของถนนทางหลวงหมายเลข 1006 (เชียงใหม่-ออนหลวย) เข้าสู่อำเภอแม่ออน ผ่านพื้นที่ราบทางตอนใต้ของชุมชนบ้านออนกลาง ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 1230 (บ้านใหม่-บ้านห้วยแก้ว) และพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ซึ่งเป็นพื้นที่เขาสูงแนวเส้นทางเข้าสู่อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ไปทางทิศตะวันออกผ่านพื้นที่เขาสูงซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ควบคู่ไปกับแนวถนนทางหลวงหมายเลข 1287 (บ้านแพะ-บ้านกองหิน) เข้าสู่อำเภอแจ้ห่ม ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) โดยแนวเส้นทางยังคงต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออก จนถึงอำเภองาว ตัดผ่านพื้นที่เขาสูงตลอดช่วงพื้นที่ และขนานไปทางทิศตะวันออกของถนนทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งเข้าสู่พื้นที่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ผ่านพื้นที่เขาสูง ทางด้านทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 120 (พะเยา-แม่ขะจาน) และถนนทางหลวงหมายเลข 1021 (พะเยา-จุน) และมุ่งหน้าต่อเนื่องไปทางทิศเหนือควบคู่ไปทางด้านทิศตะวันออกของถนนทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ก่อนจะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1298 (ภูกามยาว-ดอกคำใต้) ขนานไปทางด้านทิศตะวันออกของถนนทางหลวงหมายเลข 1202 (พะเยา-สันตันแหน) เข้าสู่จังหวัดเชียงราย มุ่งต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ ผ่านด้านทิศตะวันตกของชุมชนบ้านป่าแหงะ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1126 (พาน, เชียงราย-จุน, พะเยา) ผ่านพื้นที่อำเภอป่าแดด ไปจนถึงอำเภอเทิง ควบคู่ไปกับแนวถนนทางหลวงหมายเลข 1020 (เชียงราย-เชียงของ) ตามแนวรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงของ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1152 (ท่าสาย-บ้านสบเปา) เข้าสู่อำเภอเวียงชัย ตัดผ่านแม่น้ำลาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อกับแนวเส้นทางช่วงเชียงราย-เชียงของ และช่วงเชียงราย-แม่สาย
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 2 แห่ง :
– จ.ลำปาง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.แจ้ห่ม
– จ.พะเยา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ภูกามยาว - สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 3 แห่ง :
– จ.เชียงใหม่1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.สันกำแพง
– จ.พะเยา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองพะเยา
– จ.เชียงราย 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เมืองเชียงราย - จุดพักรถ (Rest Stop) 4 แห่ง :
– จ.ลำปาง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.งาว
– จ.พะเยา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ภูกามยาว
– จ.เชียงราย 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ป่าแดด และ อ.เมืองเชียงราย
- ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 2 แห่ง :
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันสูงจนถึงความลาดเอียงน้อย ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ระยะทาง 28.24 กิโลเมตร ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B ระยะทาง 2.87 กิโลเมตร ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ระยะทาง 22.37 กิโลเมตร และตัดผ่านอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ระยะทาง 37.66 กิโลเมตร ตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย, ป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ป่าแม่กกฝั่งขวา, ป่าแม่ลาวฝั่งขวา, ป่าแม่ขัด, ป่าขุนแม่กวง, ป่าดอยปุย, และป่าแม่ออน รวมระยะทาง 111.01 กิโลเมตร และตัดผ่านพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง คือ ดอยเวียงผา ระยะทาง 2.53 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง ประกอบด้วย สถานศึกษา 8 แห่ง ศาสนสถาน 22 แห่ง สถานพยาบาล 4 แห่ง และชุมชน 40 ชุมชน สำหรับโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบ 2 แห่ง คือ วัดบวกค้าง (วิหารแฝด) และวัดพระธาตุจอมแจ้ง
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 5,869.01 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 4,152.57 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 345.40 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 528.10 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 122.49 ไร่ โดยแนวเส้นทางมีจุดตัดถนนสายหลัก 6 จุด และถนนชุมชน 84 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 224 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงเชียงใหม่-เชียงราย พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และตัดผ่านพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ที่ตัดผ่านบางส่วนมีความลาดชันสูง และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงพบแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทาง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
แนวเส้นทางของ MR1 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงเชียงราย-แม่สาย