อัพเดตวันที่ 21/07/2566
MR1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 7 สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ (ระยะทาง 129 กม.)
ความสำคัญของเส้นทาง
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่เชื่องโยงการเดินทางจากกรุงเทพมหานครปริมณฑลไปยังภาคกลางตอนบนและภาคเหนือ ช่วยลดความหนาแน่นของปริมาณจราจรบนทางหลวงหมายเลข 1 และหมายเลข 32
รูปแบบการพัฒนา
แนวเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับรถไฟสายใหม่จนถึง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ หลังจากนั้นรถไฟจะแยกออกจากมอเตอร์เวย์เพื่อไปเชื่อมต่อแนวรถไฟปัจจุบันและรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
ระยะทางรวมประมาณ 129 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่
– จ.สุพรรณบุรี 1 อำเภอ : อ.เมืองสุพรรณบุรี
– จ.อ่างทอง 5 อำเภอ : อ.แสวงหา อ.โพธิ์ทอง อ.ศรีประจันต์ อ.สามโก้และ อ.วิเศษชัยชาญ
– จ.สิงห์บุรี 2 อำเภอ : อ.บางระจัน และ อ.ค่ายบางระจัน
– จ.ชัยนาท 3 อำเภอ : อ.มโนรมย์ อ.เมืองชัยนาท และ อ.สรรคบุรี
– จ.นครสวรรค์ 2 อำเภอ : อ.เมืองนครสวรรค์และ อ.พยุหะคีรี
แนวเส้นทางโครงการ
จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บริเวณพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่จุดเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทางเชื่อมกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ช่วงบางปะอิน-สุพรรณบุรี และสุพรรณบุรี-ทล.6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 33 แนวเส้นทางมุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ทางการเกษตร เข้าสู่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง แนวเส้นทางได้ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3195 เข้าสู่พื้นที่อำเภอสามโก้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3373 เข้าสู่อำเภอโพธิ์ทอง ควบคู่ไปกับถนนทางหลวงชนบทหมายเลข อท.5035 พากผ่านพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอศรีประจันต์ เข้าสู่อำเภอแสวงหา ผ่านพื้นที่ทางการเกษตรเป็นส่วนมาก เข้าสู่พื้นที่บริเวณอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3032 ก่อนเข้าสู่พื้นที่อำเภอบางระจัน ผ่านพื้นที่ทางการเกษตร ขนานไปทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำน้อย เข้าสู่พื้นที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ตัดผ่านพื้นที่ทางการเกษตร และแม่น้ำน้อย ก่อนจะเบี่ยงออกจากชุมชนห้วยกรดไปทางด้านทิศตะวันตก เข้าสู่อำเภอเมือง แนวเส้นทางมุ่งขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แนวเส้นทางควบคาไปกับถนนทางหลวงหมายเลข 32 ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของทางแยกต่างระดับชัยนาท เข้าสู่พื้นที่อำเภอมโนรมย์ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3212 (คุ้งสำเภา-หนองโพ) ผ่านชุมชนหางน้ำสาคร เข้าสู่พื้นที่บริเวณอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านพื้นที่ทางการเกษตร จากนั้นแนวเส้นทางเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านทางรถไฟสายปัจจุบัน และถนนทางหลวงหมายเลข 3327 ผ่านชุมชนเนินมะกอก ก่อนจะเบี่ยงเข้าสู่ทิศเหนือ เข้าสู่พื้นที่บริเวณอำเภอเมือง มุ่งไปตามแนวทางรถไฟไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณทิศตะวันออกของสถานีรถไฟนครสวรรค์ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 225 บริเวณสถานีรถไฟปากน้ำโพ และแม่น้ำน่าน ขนานไปทางด้านทิศตะวันออกของถนน อบต.บึงเสนาท ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังแนวเส้นทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครสวรรค์-อุบลราชธานี ทางด้านทิศเหนือของสถานีรถไฟปากน้ำโพ บริเวณทิศตะวันตกของอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 2 แห่ง :
– จ.อ่างทอง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.แสวงหา
– จ.นครสวรรค์1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.พยุหะคีรี
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 1 แห่ง :
– จ.ชัยนาท 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.สรรคบุรี
จุดพักรถ (Rest Stop) 3 แห่ง :
– จ.อ่างทอง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.วิเศษชัยชาญ
– จ.ชัยนาท 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.สรรคบุรีและ อ.มโนรมย์
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดเอียงเล็กน้อย โดยไม่ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 รวมถึงพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง ประกอบด้วย สถานศึกษา 10 แห่ง ศาสนสถาน 8 แห่ง สถานพยาบาล 1 แห่ง และชุมชน 42 ชุมชน สำหรับโบราณสถานในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบ 5 แห่ง ได้แก่ วัดสีบัวทอง บ้านคิม วัดธรรมิกาวาส (ค้างคาว) วัดอินทาราม และเมืองโบราณนครน้อย (บ้านหนองตาตน 2)
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 7,831.57 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 420.03 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 534.52 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 242.62 ไร่ โดยแนวเส้นทางเลือกที่ 1 มีจุดตัดถนนสายหลัก 1 จุด ถนนชุมชน 43 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 75 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางของช่วงสุพรรณบุรี-นครสวรรค์ พบว่า แนวเส้นทางไม่ตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 และป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ที่ตัดผ่านบางส่วนมีความลาดเอียงเล็กน้อย และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหลายแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
แนวเส้นทาง MR1-7 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงสุพรรณบุรี-นครสวรรค์