อัพเดตวันที่ 20/03/2566
MR1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 11 ชุมพร-สุราษฎร์ธานี
ความสำคัญของเส้นทาง
เป็นเส้นทางต่อเนื่องจากช่วงชะอำ-ชุมพร ทำหน้าที่เชื่อมโยงการจราจรจากพื้นที่ตอนบนของประเทศสู่ภาคใต้ตอนล่าง และเชื่อมโยงภายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและตอนบน โดยเฉพาะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 จังหวัด ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) คือ จังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งเป็นส่วนของเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปถึงประตูการค้าระหว่างประเทศที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเส้นทางช่วงนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการคมนาคมขนส่งและแบ่งเบาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 41
รูปแบบการพัฒนา
พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับทางรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ เสนอให้โครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ปรับแนวเส้นทางและการออกแบบเพื่อให้บูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับมอเตอร์เวย์เช่นเดียวกับช่วงชะอำ-ชุมพร
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.หลังสวน จ.ชุมพร
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี
ระยะทางรวมประมาณ 131 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก
– จ.ชุมพร 2 อำเภอ : อ.หลังสวน และ อ.ละแม
– จ.สุราษฎร์ธานี 5 อำเภอ : อ.ท่าชนะ อ.ไชยา อ.ท่าฉาง อ.พุนพิน และ อ.เคียนซา
แนวเส้นทางโครงการ
จุดเริ่มต้นในพื้นที่ของ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยอยู่ที่บริเวณจุดตัดโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชุมพร-ระนอง และเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงราย-นราธิวาส ช่วงชะอำ-ชุมพร ซึ่งแนวเส้นทางมุ่งหน้าลงทิศใต้ขนานไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนทางหลวงหมายเลข 41 (ชุมพร-พัทลุง) และตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4006 (ราชกรูด-หลังสวน) และคลองหลังสวน ก่อนที่จะมุ่งต่อเนื่องไปทางทิศใต้ ผ่าน อำเภอละแม รวมถึงชุมชนบ้านเขาหลวง และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 4002 (ละแม-บ้านคลองสงฆ์) ก่อนที่จะเข้าสู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แนวเส้นทางเข้าสู่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณพื้นที่ของ อำเภอท่าชนะ ผ่านพื้นที่ราบสูงสลับเขา ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4259 (คลองโสด-คันธุลี) และถนนทางหลวงหมายเลข 4265 (คลองโสด-ท่าชนะ) ก่อนที่จะเข้าสู่ อำเภอไชยา ในทางทิศใต้ ซึ่งแนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4259 (คลองโสด-ประสงค์) อีกครั้ง รวมทั้งถนนทางหลวงหมายเลข 4191 (ไชยา-บ้านยางโพง) ผ่านพื้นที่ของ อำเภอท่าฉาง และเข้าสู่ อำเภอพุนพิน โดยแนวเส้นทางจะอยู่บริเวณทิศตะวันตกของท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4256 (ทล.41-วิภาดี) จากนั้นแนวเส้นทางเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านทางรถไฟสายปัจจุบันบริเวณสถานีแม่ขนาย, แม่น้ำพุมดวง, ถนนทางหลวงหมายเลข 401 (ตะกั่วป่า-สุราษฎร์ธานี) และถนนทางหลวงหมายเลข 4133 (พุนพิน-พระแสง) เข้าสู่ อำเภอเคียนซา ซึ่งแนวเส้นทางบรรจบแนวเส้นทางของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง :
– จ.สุราษฎร์ธานี : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ไชยา
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง :
– จ.ชุมพร 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ละแม
– จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.พุนพิน
จุดพักรถ (Rest Stop) 2 แห่ง :
– จ.สุราษฎร์ธานี : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ท่าชนะ และ อ.พุนพิน
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมีลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันสูงจนถึงความลาดชันต่ำ โดยผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เป็นระยะทาง 0.41 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 เป็นระยะทาง 6.89 กิโลเมตร และตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ป่าท่าชนะ, ป่าเขาพุทธทอง, ป่าบางเบา และป่าคลองเชียด, ป่าพะโต๊ะป่าปังหวาน ป่าปากทรง รวมระยะทาง 21.29 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบ สถานศึกษา 3 แห่ง ศาสนสถาน 1 แห่ง สถานพยาบาล 5 แห่ง และชุมชน 16 ชุมชน สำหรับโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบ 1 แห่ง ได้แก่ แหล่งโบราณคดี ท่าผาก-น้ำรอบ
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 7,226.94 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 8.97 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 722.04 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 16.81 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 28.10 ไร่ โดยแนวเส้นทาง มีจุดตัดถนนสายหลัก 22 จุด ถนนชุมชน 47 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 69 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ที่ตัดผ่านบางส่วนมีความลาดชันสูง และพบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล โรงเรียน และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางหนึ่งแห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม


รูปที่แนวเส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี