อัพเดตวันที่ 20/03/2566
MR1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 12 สุราษฎร์ธานี-สงขลา
ความสำคัญของเส้นทาง
แนวเส้นทางเชื่อมโยงการจราจรสู่ภาคใต้ตอนล่าง และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) กับเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมทั้งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อไปถึงประตูการค้าระหว่างประเทศที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ช่วยส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกสงขลาซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหลักของภาคใต้ตอนล่าง ช่วงนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการคมนาคมขนส่งและแบ่งเบาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 4 และ 41
รูปแบบการพัฒนา
แนวเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ เสนอให้โครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ปรับแนวเส้นทางและการออกแบบเพื่อให้บูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับมอเตอร์เวย์
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
ระยะทางรวมประมาณ 231 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 19 อำเภอ ได้แก่
– จ.สุราษฎร์ธานี 3 อำเภอ : อ.เคียนซา อ.พระแสง และ อ.เวียงสระ
– จ.นครศรีธรรมราช 5 อำเภอ : อ.ถ้ำพรรณรา อ.ทุ่งใหญ่ อ.นาบอน อ.ทุ่งสง และ อ.ชะอวด
– จ.พัทลุง 9 อำเภอ : อ.ป่าพะยอม อ.ศรีบรรพต อ.ควนขนุน อ.ศรีนครินทร์ อ.เมืองพัทลุง อ.กงหรา อ.เขาชัยสน อ.ตะโหมด และ อ.ป่าบอน
– จ.สงขลา 2 อำเภอ : อ.รัตภูมิ และ อ.หาดใหญ่
แนวเส้นทางโครงการ
มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริเวณที่ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 44 แนวเส้นทางมุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4212 มุ่งหน้าตรงยาวข้ามลำน้ำ 1 แห่ง ก่อนจะเข้าสู่ อำเภอเวียงสระ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4009 และมุ่งเข้าสู่อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 41, 4228, และข้ามลำน้ำ 1 แห่ง มุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอทุ่งใหญ่ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4038 มีการเปลี่ยนทิศทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4019 มุ่งหน้าตรงเข้าสู่ อำเภอนาบอน แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4014 จากนั้นเข้าสู่ อำเภอทุ่งสง แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4214, 4110 , 4116 และผ่านบริเวณใกล้สถานีรถไฟและตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 403 แนวเส้นทางยังคงมุ่งไปทิศทางเดิม ผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2034, 3051, ถนนทางหลวงหมายเลข 4151 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2036 ก่อนจะเข้าสู่ อำเภอชะอวด แนวเส้นทางมุ่งตรงไปทางทิศเดิม ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางไปทางทิศใต้เข้าสู่ อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4270, 4163 , ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.2041 และ พท.2030 มุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอศรีบรรพต ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.2008 มุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอควนขนุน แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4164, ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2057 และ พท.2006 แนวเส้นทางเข้าสู่ อำเภอศรีบรรพตอีกครั้งเป็นช่วงสั้นๆ ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.2016 และถนนทางหลวงหมายเลข 4 ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอศรีนครอินทร์ แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ผ่านอำเภอเมืองพัทลุงเป็นช่วงสั้น ๆ แล้วกลับเข้าสู่กิ่ง อำเภอศรีนครอินทร์อีกครั้ง ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.1028 และข้ามคลองส่งน้ำขนาดเล็ก 1 แห่ง แนวเส้นทางตัดเข้าอำเภอเมืองพัทลุงเป็นช่วงสั้น ๆ อีกครั้ง ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 1021 ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอกงหรา แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลขพท.3014 และวิ่งตรงยาวลงไปทางทิศใต้ห่างจากพื้นที่ชุมชน เข้าสู่อำเภอเมืองพัทลุงอีกครั้ง ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.1002 และ 1015 ข้ามลำน้ำขนาดเล็ก 1 แห่ง ก่อนจะตัดผ่านเข้าอำเภอกงหราอีกครั้งเป็นช่วงสั้น ๆ และมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอเขาชัยสน แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.1027 และ พท.1014 มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอตะโหมด ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4121 , 4237 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.4025 เข้าสู่อำเภอป่าบอน แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4122 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข พท.1025 จากนั้นไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 3 แห่ง :
– จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เวียงสระ
– จ.นครศรีธรรมราช 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ชะอวด
– จ.สงขลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.รัตภูมิ
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง :
– จ.นครศรีธรรมราช 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.นาบอน
– จ.พัทลุง 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ศรีนครินทร์
จุดพักรถ (Rest Stop) 6 แห่ง :
– จ.สุราษฎร์ธานี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เคียนซา
– จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง : อ.ทุ่งใหญ่ และ อ.ทุ่งสง
– จ.พัทลุง 2 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ควนขนุน และ อ.เขาชัยสน
– จ.สงขลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.หาดใหญ่
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- ลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันสูงจนถึงความลาดชันต่ำ ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทาง 2.89 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เป็นระยะทาง 1.77 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ระยะทาง 5.99 กิโลเมตร โดยตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 12 แห่ง ได้แก่ ป่าเกาะเต่า ป่าคลองเรียน, ป่าขอนไทรหัก, ป่าเขาวังพา, ป่าควนแก้ว ป่าคลองตม และป่าทุ่งลานแซะ, ป่าควนหินกอง ควนโพธิ์เล ควนขี้ขมิ้น ควนน้ำทรัพย์, ป่าควนออกบ้านน้ำตก, ป่าช่องกะโสม ป่าวังญวน ป่าควนปะ ป่าช่องเขา ป่าไร่ใหญ่ ป่าควนขี้แรด ป่าควนนกจาบและป่าปากอ่าว, ป่าทุ่งหนองควาย, ป่าปลายรา, ป่าย่านยาว, ป่าเขาวง และป่ากระซุม, ป่าเหนือคลอง รวมระยะทาง 46.67 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบสถานศึกษา 15 แห่ง ศาสนสถาน 10 แห่ง สถานพยาบาล 8 แห่ง และชุมชน 80 ชุมชน สำหรับโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตรจากสองฝั่งของแนวเส้นทาง พบ 1 แห่ง ได้แก่ ถ้ำทองพรรณรา
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 12,810.05 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 533.56 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 542.05 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 608.68 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 134.17 ไร่ โดยแนวเส้นทางมีจุดตัดถนนสายหลัก 17 จุด ถนนชุมชน 108 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 168 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางสุราษฎร์ธานี-สงขลา พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมประเภทพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A, 1B พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 รวมถึงป่าสงวนแห่งชาติหลายแห่ง พบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน รวมถึงแหล่งโบราณสถานอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางจำนวน 1 แห่ง จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
รูปแนวเส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา