อัพเดตวันที่ 21/07/2566
MR1 เชียงราย-นราธิวาส
ช่วงที่ 14 สงขลา-นราธิวาส (ระยะทาง 218 กม.)
ความสำคัญของเส้นทาง
เชื่อมต่อพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับเมืองเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ และเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) นราธิวาส อีกทั้ง แนวเส้นทางสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางบกกับประเทศมาเลเซีย บริเวณพรมแดนติดต่อกับรัฐกลันตัน ตามทางหลวงเอเชียเส้นทาง AH3 และทางรถไฟช่วงรันเตาปันยัง-ปาเซร์มัส(ปัจจุบัน ไม่มีการเดินรถระหว่างประเทศ) เส้นทางนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
รูปแบบการพัฒนา
แนวเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ โดยใช้เขตทางร่วมกับรถไฟปัจจุบัน ทั้งนี้ ในอนาคตหากมาเลเซียมีการพัฒนาโครงการทางรถไฟ The East Coast Rail Link (ECRL) ซึ่งเป็นรถไฟขนาดทางมาตรฐานจาก Port Klang มายังเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน อาจพิจารณาพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟขนาดทางมาตรฐานจากหาดใหญ่ไปเชื่อมต่อกับเส้นทาง ECRL
รายละเอียดแนวเส้นทาง
จุดเริ่มต้นโครงการ : อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
จุดสิ้นสุดโครงการ : อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ระยะทางรวมประมาณ 249 กิโลเมตร
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 16 อำเภอ ได้แก่
– จ.สงขลา 4 อำเภอ : อ.หาดใหญ่ อ.คลองหอยโข่ง อ.จะนะ และ อ.เทพา
– จ.ปัตตานี 5 อำเภอ : อ.โคกโพธิ์ อ.แม่ลาน อ.ยะรัง อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง
– จ.ยะลา 2 อำเภอ : อ.เมืองยะลา และ อ.รามัน
– จ.นราธิวาส 5 อำเภอ : อ.รือเสาะ อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก
แนวเส้นทางโครงการ
มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา บริเวณถนนไม่มีชื่อ ต่อจากจุดสิ้นสุดของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายสุราษฎร์ธานี-สงขลา แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 406 ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอหาดใหญ่ แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข สข.4026 และเปลี่ยนทิศทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ อำเภอคลองหอยโข่ง แนวเส้นทางตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข สข.5045, สข.505¸ สข.4034 และ สข.5056 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอหาดใหญ่อีกครั้ง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4 และข้ามทางรถไฟเดิม จากนั้นเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอจะนะ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3031, 408 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข สข.2008 ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอเทพา แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4085 และ 42 มีการข้ามลำน้ำ 1 แห่ง จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ปน.2064 และ ปน.2063 จากนั้นมีการข้ามแนวรถไฟเดิม จากนั้นตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 409 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลขปน.3011 มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอแม่ลาน แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 418, ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ปน.3058 และ ปน.3014 จากนั้นมุ่งหน้าผ่าน อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนจะกลับเข้าสู่ จังหวัดปัตตานีอีกครั้งที่ อำเภอยะรัง แนวเส้นทางทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ข้ามลำน้ำ 1 แห่ง ตัดผ่านถนนทางหลวง หมายเลข 410 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ปน.6072 และ ปน.3057 จากนั้นเปลี่ยนทิศทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ อำเภอมายอ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข ปน.3057 อีกครั้ง แล้วมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอทุ่งยางแดง ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4071 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4092 และ 4066 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 4060 และวิ่งไปจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
ที่พักริมทาง (Rest Area)
ตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีที่พักริมทาง (Rest Area) ทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่
ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 2 แห่ง :
– จ.สงขลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.เทพา
– จ.นราธิวาส 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.รือเสาะ
สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 3 แห่ง :
– จ.สงขลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.หาดใหญ่
– จ.ปัตตานี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.แม่ลาน
– จ.นราธิวาส 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.สุไหงปาดี
จุดพักรถ (Rest Stop) 4 แห่ง :
– จ.สงขลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.จะนะ
– จ.ยะลา 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.รามัน
– จ.นราธิวาส 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.ระแงะ
– จ.ปัตตานี 1 แห่ง : ตั้งอยู่บริเวณ อ.โคกโพธิ์
การวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม
- แนวเส้นทางมี ลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันสูงจนถึงความลาดชันต่ำ ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นระยะทาง 0.44 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1B เป็นระยะทาง 0.15 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ระยะทาง 14.76 กิโลเมตร ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เป็นระยะทาง 1.38 กิโลเมตร ตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 7 แห่ง ได้แก่ ป่าควนหินพัง ป่าควนชีล้อม ป่าควนอ่าวปลักก๊ก ป่าควนแหละหวัง, ป่าเขาแดน ป่าเขาน้ำค้าง ป่าควนสิเหรง, ป่าบาโงจะลาฆี, ป่าเทือกเขาเปาะยานิ, ป่าบูเก๊าะตางอ, ป่าเทือกเขารือเสาะ ป่ายี่งอ ป่าบาเจาะ, ป่าบูเก๊ะตามง รวมระยะทาง 7.6 กิโลเมตร
- สำหรับพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะ 500 เมตรจากสองฝั่งแนวเส้นทาง พบสถานศึกษา 29 แห่ง ศาสนสถาน 57 แห่ง สถานพยาบาล 3 แห่ง และชุมชน 105 ชุมชน โดยไม่พบโบราณสถาน ในระยะ 1 กิโลเมตร จากสองฝั่งของแนวเส้นทางแต่อย่างใด
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 12,915 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 573 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 918 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 905 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 108 ไร่ โดยแนวเส้นทาง มีจุดตัดถนนสายหลัก 29 จุด ถนนชุมชน 90 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 183 จุด และอ่างเก็บน้ำ 4 จุด
โดยสรุปแนวเส้นทางช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา พบว่า แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมประเภทพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A, 1B และ 2 อุทยานแห่งชาติ รวมถึงป่าสงวนแห่งชาติหลายแห่ง พบพื้นที่อ่อนไหวต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และชุมชน จึงต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมดังกล่าว รวมถึงกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
แนวเส้นทาง MR1-14 เชียงราย-นราธิวาส ช่วงสงขลา-นราธิวาส