อัพเดตวันที่ 29/10/2565
MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด
ช่วงที่ 3 ระยอง-ตราด (ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร)
ความสำคัญของเส้นทาง
เป็นเส้นทางที่ต่อจากช่วงวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3-ปราจีนบุรี เชื่อมโยงไปยัง ด่านอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ด่านพรมแดนนี้เป็นประตูการค้าหลักระหว่างไทยและกัมพูชา และเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงไปถึงกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา และนครโฮจิมินห์ ของเวียดนาม ตามแนวทางหลวงเอเชียสาย AH1 และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) รวมทั้ง เส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองช่วงนี้จะเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วอีกด้วย
จังหวัดที่แนวเส้นทางพาดผ่าน
จุดเริ่มต้นโครงการ : อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
จุดสิ้นสุดโครงการ : อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 9 อำเภอ ได้แก่
- จังหวัดระยอง 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแกลง
- จังหวัดจันทบุรี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม และ อำเภอขลุง
- จังหวัดตราด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาสมิง อำเภอเมืองตราด และ อำเภอคลองใหญ่
ระยะทางวมประมาณ 167 กิโลเมตร
รูปแบบและรายละเอียดแนวเส้นทาง
ช่วงอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ถึงอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับทางรถไฟทางคู่สายใหม่และทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ส่วนต่อขยายไปตราด) ช่วงจากอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ถึง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟความเร็วสูงแยกจากทางรถไฟสายใหม่ หลังจากนั้น จากอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ไปจนถึงปลายทางที่บริเวณด่านคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด พัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟสายใหม่
การกำหนดแนวเส้นทาง :
แนวเส้นทางเลือกที่ 1 มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 3377 แนวเส้นทางมุ่งหน้าลงไปทางทิศตะวันออก วิ่งคู่ขนานไปกับแนวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ)
ไปตลอดทาง มีการยกข้ามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด (อยู่ในระหว่างศึกษาออกแบบ) 2 ครั้ง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งหน้าลงทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีการยกข้ามแนวรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด อีก 2 ครั้ง ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอท่าใหม่ ผ่านพื้นที่อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3 และมีการยกข้ามรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด ก่อนจะมุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอเมืองจันทบุรี ซึ่งแนวเส้นทางคงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก คู่ขนานไปกับแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) ตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 3249 เข้าสู่ อำเภอมะขาม จากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เข้าสู่ อำเภอขลุง และเบี่ยงไปทางทิศใต้ มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด แนวเส้นทางยังคงวิ่งคู่ขนานไปกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) มีการข้ามลำน้ำ 2 แห่ง โดยแนวเส้นทางเปลี่ยนทิศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แยกทางกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด (HSR ระยอง-ตราด) โดยมีแนวเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟทางคู่ระยอง-ตราด มุ่งหน้าเข้าสู่ อำเภอเมืองตราด จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามลำน้ำ 2 แห่ง และยกข้ามรถไฟทางคู่ 1 ครั้ง แนวเส้นทางเปลี่ยนทิศไปทางทิศใต้ ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.1004 จากนั้นมุ่งหน้าตรงยาวลงไปทางทิศใต้เข้าสู่ อำเภอคลองใหญ่ และไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ 1 บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 3 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังด่านคลองใหญ่ได้
การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม :
- ลักษณะพื้นที่ที่ตัดผ่านมีความลาดชันต่ำ เป็นป่าถูกบุกรุก และมีความลาดเอียงน้อยถึงความลาดเทสูง โดยผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 2 เป็นระยะทาง 0.28 กิโลเมตร แนวเส้นทางตัดผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ป่าเขาแกลด ป่าเขาสุกรัม, ป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่ ป่าเขาไฟไหม้) และป่าเขาบรรทัด รวมระยะทาง 10.64 กิโลเมตร
- ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ที่แนวเส้นทางตัดผ่าน ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม 8,041.01 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 503.93 ไร่ พื้นที่ไม่ใช้ประโยชน์ 2,100.17 ไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 419.20 ไร่ และพื้นที่แหล่งน้ำ 205.16 ไร่
- แนวเส้นทางเลือกที่ 1 มีจุดตัดถนนสายหลัก 19 จุด ถนนชุมชน 105 จุด นอกจากนี้ ยังตัดผ่านแหล่งน้ำประเภทแม่น้ำลำคลอง 189 จุด
แนวเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด MR7