อัพเดตวันที่ 01/11/2565
แผนการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
รายละเอียดเบื้องต้นของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 21 สายทาง ของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579 สรุปได้ดังนี้

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายด่านแม่สอด – ด่านมุกดาหาร (M2)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวตะวันออก-ตะวันตก รองรับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แนว East-West Economic Corridor เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศ และเชื่อมต่อกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดตาก โดยมีแนวเส้นทาง เริ่มต้นที่ด่านแม่สอด จังหวัดตาก บริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทย-สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ไปสิ้นสุดแนวเส้นทางด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นบริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเชื่อมเข้าสู่ถนนเอเชียสาย R2 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อไป นอกจากนี้ แนวเส้นทางยังผ่านจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นเมืองหลักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาค มีระยะทางรวมประมาณ 704 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 5 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนด่านแม่สอด-ตาก
– ตอนตาก-พิษณุโลก
– ตอนพิษณุโลก-เพชรบูรณ์
– ตอนเพชรบูรณ์-ขอนแก่น
– ตอนขอนแก่น-ด่านมุกดาหาร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายด่านช่องจอม – ด่านบึงกาฬ (M3)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเส้นทางเชื่อมการเดินทางระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-กัมพูชา และเชื่อมด่านการค้าชายแดนที่สำคัญที่ด่านช่องจอม และด่านบึงกาฬ โดยมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นประตูชายแดนเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชา ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ สิ้นสุดที่ ด่านบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนกับเมืองปากซันของ สปป.ลาว มีระยะทางรวมประมาณ 465 กิโลเมตร แบ่ง ออกเป็น 5 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนด่านช่องจอม-สุรินทร์
– ตอนสุรินทร์-ร้อยเอ็ด
– ตอนร้อยเอ็ด-กาฬสินธุ์
– ตอนกาฬสินธุ์-สกลนคร
– ตอนสกลนคร-ด่านบึงกาฬ
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครสวรรค์ – ด่านช่องเม็ก (M4)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวตะวันออก-ตะวันตก ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองรับการเดินทางระหว่างภาคกลางตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และยังเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างไทย- สปป.ลาว บริเวณด่านชายแดนช่องเม็ก (เมื่อเข้าสู่พรมแดน สปป. ลาว จะเชื่อมต่อกับถนนสถิตย์นิมานกาล) การกำหนดแนวเส้นทางมีแนวคิดเพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านจังหวัดนครราชสีมา และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี มีระยะทางรวมประมาณ 610 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนนครสวรรค์-นครราชสีมา
– ตอนนครราชสีมา-สุรินทร์
– ตอนสุรินทร์-ด่านช่องเม็ก
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ (M5)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ ร่วมกับรูปแบบรัศมี ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ เส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับจังหวัดต่าง ๆ ของภาคกลางและภาคเหนือ และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปต่างประเทศ (สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน แนวเส้นทางถูกกำหนดภายใต้กรอบความคิดเชื่อมโยงเมืองหลักต่าง ๆ ด่านการค้าชายแดน และต่างประเทศ แนวเส้นทางผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ รวมถึงเชื่อมกับด่านแม่สายและด่านเชียงของจังหวัดเชียงราย โดยมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นที่อำเภอรังสิต จังหวัดปทุมธานี มุ่งขึ้นเหนืออำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่จังหวัดเชียงรายบริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทย-ลาว ที่ด่านเชียงของ และชายแดนไทย-เมียนมา ที่ด่านแม่สาย ก่อนเชื่อมเข้าสู่ถนนอาเซียนสาย R3A ใน สปป.ลาว และ R3B ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ต่อไป มีระยะทางรวมประมาณ 853 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 8 ตอนประกอบด้วย
– ตอนทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน
– ตอนบางปะอิน-นครสวรรค์
– ตอนนครสวรรค์-พิษณุโลก
– ตอนพิษณุโลก-อุตรดิตถ์
– ตอนอุตรดิตถ์-ลำปาง
– ตอนลำปาง-เชียงราย
– ตอนเชียงราย-ด่านแม่สาย
– ตอนเชียงราย-ด่านเชียงของ
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – ด่านหนองคาย (M6)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปต่างประเทศ (สปป.ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน) แนวเส้นทางถูกกำหนดภายใต้กรอบความคิดเชื่อมโยงเมืองหลักต่าง ๆ ด่านการค้าชายแดน และต่างประเทศ มีการเชื่อมโยงด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ ด่านหนองคาย ระหว่างแนวเส้นทางสามารถเชื่อมโยงเมืองหลักทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เช่น จังหวัดสระบุรี (สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย และนิคมอุตสาหกรรมหนองแค) นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี รวมถึงเชื่อมกับ ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย แนวเส้นทางเริ่มต้นที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสิ้นสุดที่ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย บริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทย-ลาว ที่ด่านหนองคาย ก่อนเชื่อมเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งสู่เวียงจันทร์ของ สปป.ลาว ต่อไป มีระยะทางรวมประมาณ 540 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนบางปะอิน-นครราชสีมา
– ตอนนครราชสีมา-ขอนแก่น
– ตอนขอนแก่น-ด่านหนองคาย
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – บ้านฉาง (M7)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวรัศมี ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคตะวันออกไปยังท่าเรือสำคัญต่าง ๆ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด เชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภา อีกทั้งยังเชื่อมโยงแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมพานทองเกษม ในจังหวัดชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในจังหวัดระยอง เป็นต้น โดยมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ (จุดสิ้นสุดทางพิเศษศรีรัช) กรุงเทพมหานคร และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีระยะทางรวมประมาณ 153 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนกรุงเทพฯ-ชลบุรี (เปิดให้บริการแล้ว)
– ตอนชลบุรี-พัทยา
– ตอนพัทยา-มาบตาพุด (บ้านฉาง)
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ด่านสุไหงโกลก (M8)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ โดยเส้นทางจะเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ และเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังประเทศมาเลเซีย แนวเส้นทางถูกกำหนดภายใต้กรอบความคิดเพื่อเป็นเส้นทางเลือกและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางสู่ภาคใต้ เชื่อมโยงเมืองหลักต่าง ๆ ด่านการค้าชายแดนและต่างประเทศ ระหว่างแนวเส้นทางผ่านจังหวัดต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ เช่น จังหวัดราชบุรี อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ ทั้งยังมีแหล่งอุตสาหกรรม เช่น นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี และนิคมอุตสาหกรรม VRM จังหวัดเพชรบุรี ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีสำคัญของประเทศ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา อันเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเศรษฐกิจ และแหล่งการค้าชายแดน รวมถึงเชื่อมกับด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ ผู้ใช้เส้นทางจะได้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น ๆ ผ่านการใช้โครงข่ายทางหลวงหลังจากการใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางนี้ โดยจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และไปสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณจุดเชื่อมต่อพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ก่อนเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3 ของประเทศมาเลเซียต่อไป มีระยะทางรวมประมาณ 1,103 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 5 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนนครปฐม-ชะอำ
– ตอนชะอำ-ชุมพร
– ตอนชุมพร-สุราษฎร์ธานี
– ตอนสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่
– ตอนหชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสุไหงโกลก)
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2) (M9)
เป็นทางหลวงพิเศษในลักษณะวงแหวนรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งรองรับการเดินทางบริเวณพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานครมหานครและปริมณฑล มีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 165 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก
– ตอนถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก
– ตอนถนนกาญจนาภิเษก ด้านใต้
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายเชียงใหม่ – ลำปาง (แจ้ห่ม) (M51)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคเหนือ แนวเส้นทางเชื่อมจากสายทางหลักไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับพื้นที่ต่าง ๆ โดยแนวเส้นทางแยกออกจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ (M5) บริเวณอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เชื่อมเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสุพรรณบุรี – ชัยนาท (M52)
เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ ของประเทศในพื้นที่ภาคกลาง เชื่อมระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ (M5)กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-นครปฐม (M92) รองรับการเดินทางในแนวเหนือ-ใต้ของประเทศและการเดินทางระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรีกับจังหวัดต่าง ๆ บริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนบนความสะดวกรวดเร็ว แนวเส้นทางเริ่มจากทางแยกจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-นครปฐม (M92) บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ (M5) บริเวณจังหวัดชัยนาท มีระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – บางปะหัน (M53)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลาง ที่จะช่วยลดปริมาณจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายขึ้นเหนือจากโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในกรุงเทพมหานครมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางเริ่มจากถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก บริเวณจุดสิ้นสุดของทางพิเศษอุรรัถยา และสิ้นสุดที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – นครราชสีมา (M61)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมเมืองหลักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นท่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ สปป. ลาว (ผ่านทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-ด่านหนองคาย (M6)) และแนวเส้นทางได้เชื่อมโยงกับแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความสำคัญเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมพานทองเกษม ในจังหวัดชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี และนิคมอุตสาหกรรมในเครือสหพัฒน์ ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และสิ้นสุดแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-ด่านหนองคาย (M6) ที่จังหวัดนครราชสีมา มีระยะทางประมาณ 288 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี
– ตอนปราจีนบุรี-นครราชสีมา
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – สระบุรี (M62)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลาง ที่จะช่วยลดปริมาณจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากพื้นที่ตะวันออกของในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเริ่มต้นแนวเส้นทางที่ถนนกาญจนภิเษก ด้านตะวันออก (บริเวณจุดสิ้นสุดของทางพิเศษฉลองรัช) และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มีระยะทางประมาณ 78 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – ด่านอรัญประเทศ (M71)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก ในแนวเดียวกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-ด่านพุน้ำร้อน รองรับการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกตอนบน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศกัมพูชา-ไทย-เมียนมา แนวเส้นทางเชื่อมต่อกับด่านอรัญประเทศ และเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความสำคัญของจังหวัดสระแก้ว และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศกัมพูชา ผ่านโครงการทางหลวงเอเชีย (AH1) อีกทั้งแนวเส้นทางยังสนับสนุนการขนส่งสินค้าจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี แนวเส้นทางจุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันออก ไปสิ้นสุดที่จังหวัดสระแก้วบริเวณด่านอรัญประเทศมีระยะทางรวมประมาณ 204 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนกรุงเทพมหานคร-สระแก้ว
– ตอนสระแก้ว – ด่านอรัญประเทศ
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี – ตราด (M72)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งกำหนดให้แนวเส้นทางต่อเนื่องจากเมืองชลบุรีไปยังจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคตะวันออก เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด และด่านการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาที่บริเวณด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด ทั้งยังสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศกัมพูชาผ่านถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข 3) เพื่อผ่านพรมแดนไปยังทางหลวงหมายเลข 48 ของประเทศกัมพูชาได้ โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกออกจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง (M7) บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรีและสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดตราด มีระยะทางรวมประมาณ 216 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนชลบุรี-ระยอง
– ตอนระยอง-ตราด
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – ด่านน้ำพุร้อน (M81)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก ในแนวเดียวกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-ด่านอรัญประเทศ (M71) รองรับการเดินทางระหว่างภาคตะวันตก และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศกัมพูชา-ไทย-เมียนมา แนวเส้นทางเชื่อมกับด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเมียนมา สนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือนน้ำลึกทวายในอนาคต รองรับการเดินทางไปยังเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม เป็นต้น โดยแนวเส้นทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-ตราด (M72) เริ่มต้นที่บริเวณที่ถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก ไปสิ้นสุดที่บริเวณด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี มีระยะทางรวมประมาณ 164 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนบางใหญ่-กาญจนบุรี
– ตอนกาญจนบุรี-ด่านพุน้ำร้อน
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร – ปากท่อ (M82)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลาง เป็นเส้นทางเลือกในการเดินทาง และการขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับภาคใต้ รองรับโครงข่ายการขนส่งสินค้าจากแหล่งอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35) โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่ถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก และสิ้นสุดที่ทางต่างระดับวังมะนาว จังหวัดราชบุรี มีระยะทางประมาณ 74 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต (M83)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งของทะเลของประเทศ (ฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน) เพื่อรองรับการเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสิ้นสุดที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงต้นของเส้นทางกำหนดให้ใช้เขตทางของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 (กระบี่-ขนอม) ในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มีระยะทางของเส้นทางรวมประมาณ 191 กิโลเมตร
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายสงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) (M84)
เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเส้นทางจะแยกออกมาจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ด่านสุไหงโกลก (M8) เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังอำเภอเมืองสงขลา และด่านสะเดา ซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย ที่มีปริมาณมูลค่าการค้าสูงสุด โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และสิ้นสุดที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา มีระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตรแบ่งออกเป็น 2 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนสงขลา-หาดใหญ่
– ตอนหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา)
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (M91)
เป็นทางหลวงพิเศษวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งรองรับการเดินทางบริเวณพื้นที่รอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลชั้นนอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงพิเศษสายถนนกาญจนาภิเษก แนวเส้นทางมีลักษณะเป็นวงแหวน มีระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 254 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก
– ตอนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก
– ตอนวงแหวนรอบนอกฯ รอบที่ 3 ด้านใต้
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-นครปฐม (M92)
เป็นเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ทำหน้าที่คล้ายวงแหวนรอบกรุงเทพมหานคร รองรับการเดินทางระหว่างภาคตะวันตก-ภาคเหนือ-ภาคกลางตอนบน-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคตะวันออก ช่วยให้การเดินทางดังกล่าวไม่จำเป็นต้องผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงช่วยลดปัญหาการจราจร บริเวณพื้นที่โดยรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสนับสนุนโครงข่ายโลจิสติกส์ ในภาพรวม โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นที่จังหวัดชลบุรี ผ่านจังหวัดนครนายก จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม มีรวมระยะทางรวมประมาณ 312 กิโลเมตรแบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย
– ตอนชลบุรี-สระบุรี
– ตอนสระบุรี-สุพรรณบุรี
– ตอนสุพรรณบุรี-นครปฐม
การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้มีการวางแผนในการดำเนินโครงการในระยะต่าง ๆ โดยการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองทั้ง 21 เส้นทาง คาดว่ามีค่าลงทุนประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท สามารถแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการลงทุนในระยะ 10 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2569) และช่วง 10 ปีหลัง (พ.ศ. 2570-2579)
ระยะ 10 ปีแรก (เริ่มต้นก่อสร้างในช่วง ปี พ.ศ. 2560-2569) มีจำนวนโครงการที่จะเริ่มทำการก่อสร้างจำนวน 33 โครงการ ระยะทางประมาณ 3,307 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่จะเป็นโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางระหว่างภาค เชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองหลักและด่านการค้าชายแดน และโครงการถนนวงแหวนเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และมีตัวอย่างโครงการต่าง ๆ เช่น
-
- โครงข่ายเชื่อมการเดินทางระหว่างภาค เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ ตอนทางยกระดับอุตราภิมุข-บางปะอิน-นครสวรรค์-พิษณุโลก (M5) สายบางปะอิน-ด่านหนองคาย (M6) สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง (M7) สายนครปฐม-ด่านสุไหงโกลก (M8) ตอนนครปฐม-ชะอำ-ชุมพร ที่เป็นโครงข่ายเชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคกลาง/ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับ เป็นต้น
- โครงข่ายเชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองหลักและด่านการค้าชายแดน เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ ตอนเชียงราย-ด่านเชียงของและด่านแม่สาย (M5) สายกรุงเทพมหานคร-ด่านอรัญประเทศ (M71) สายบางใหญ่-ด่านพุน้ำร้อน (M81) สายสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต (M83) สายสงขลา-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสะเดา) (M84) เป็นต้น
- โครงข่ายเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด เช่น โครงการสายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ตอนกรุงเทพมหานคร-ชลบุรี ช่วงทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ (M7) โครงการทางหลวงพิเศษสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (M91) สายถนนกาญจนาภิเษก ด้านตะวันตก (M9) เป็นต้น
ระยะ 10 ปีหลัง (เริ่มต้นก่อสร้างในช่วง ปี พ.ศ. 2570- 2579) มีจำนวนโครงการที่จะเริ่มทำการก่อสร้างจำนวน 23 โครงการ ระยะทางประมาณ 3,118 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 0.82 ล้านล้านบาทโครงการส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางต่าง ๆ ให้ครบสมบูรณ์ตามโครงข่ายที่กำหนดไว้ และมีตัวอย่างโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายกรุงเทพมหานคร-ด่านแม่สาย/ด่านเชียงของ ตอนพิษณุโลก-อุตรดิตถ์-ลำปาง (M5) สายนครปฐม-ด่านสุไหงโกลก (M8) ตอนชุมพร-สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย (ด่านสุไหงโกลก) สายนครสวรรค์-ด่านช่องเม็ก (M4) สายชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-นครราชสีมา ตอนปราจีนบุรี-นครราชสีมา (M61) และสายชลบุรี-นครปฐม ตอนสระบุรี-นครปฐม เป็นต้น