อัพเดตวันที่ 01/11/2565

แนวเส้นทาง MR-MAP

โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง

จากแนวทางการกำหนดโครงข่ายการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางมีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 6,974 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน 374 กิโลเมตร (รวมส่วนที่เป็นทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตกที่ยังไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 317 กิโลเมตร ส่วนที่เหลือ 6,283 กิโลเมตร อยู่ในแผนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์การพัฒนาฯ โดยเป็นการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง 3,593 กิโลเมตร

แนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,613 กิโลเมตร ได้แก่

    • เส้นทางเชียงราย-นราธิวาส (MR1) ระยะทาง 2,237 กิโลเมตร
    • เส้นทางกรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย (MR2) ระยะทาง 897 กิโลเมตร รวมเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ช่วงบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร
    • เส้นทางบึงกาฬ-สุรินทร์ (MR3) ระยะทาง 479 กิโลเมตร

แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,756 กิโลเมตร ได้แก่

    • เส้นทางตาก-นครพนม (MR4) ระยะทาง 872 กิโลเมตร
    • เส้นทางนครสวรรค์-อุบลราชธานี (MR5) ระยะทาง 712 กิโลเมตร
    • เส้นทางกาญจนบุรี-สระแก้ว (MR6) ระยะทาง 382 กิโลเมตร รวมเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร
    • เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด (MR7) ระยะทาง 472 กิโลเมตร รวมเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 181 กิโลเมตร
    • เส้นทางชุมพร-ระนอง (MR8) ระยะทาง 89 กิโลเมตร
    • เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต (MR9) ระยะทาง 229 กิโลเมตร

แนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MR10) จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร ได้แก่

    • วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 ระยะทาง 193 กิโลเมตร
    • วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ระยะทาง 261 กิโลเมตร (ไม่รวมเส้นทางสุพรรณบุรี-นครปฐม 73 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางร่วมกันระหว่างเส้นทาง MR1 และวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก)
    • เส้นทางช่วงบางขุนเทียน-ปากท่อ ระยะทาง 72 กิโลเมตร มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร
    • เส้นทางบางปะอิน-สุพรรณบุรี ระยะทาง 57 กิโลเมตร
    • ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กิโลเมตร

ภาพร่างแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map)

(อัพเดตวันที่ 29/10/65)

รายละเอียดแนวเส้นทางตามแผนแม่บท MR-MAP

หมายเหตุ ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางตามความเหมาะ

MR 1 เชียงราย-นราธิวาส (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่มีระยะทางยาวที่สุดของแนวเส้นทางตามนโยบายการบูรณาการโครงข่ายฯ MR-MAP โดยแนวเส้นทางวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เริ่มต้นในจังหวัดเชียงราย จากด่านเชียงของ ชายแดนไทย-ลาว และด่านแม่สาย ชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ไปสิ้นสุดที่ด่านสะเดา/ปาดังเบซาร์ ชายแดนไทย-มาเลเซียในจังหวัดสงขลา และด่านสุไหงโก-ลก ชายแดนไทยมาเลเซียในจังหวัดนราธิวาส

ความสำคัญของแนวเส้นทาง 

    • เชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ (อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา) เข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
    • เชื่อมโยงประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านเหนือ ได้แก่ ด่านแม่สาย (ไทย-เมียนมา) ด่านเชียงของ (ไทย-ลาว) และประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านใต้ ได้แก่ ด่านสะเดา/ปาดังเบซาร์ และด่านสุไหงโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย)
    • สอดคล้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) ของกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)
    • เชื่อมโยงและรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13
    • เชื่อมโยงจังหวัดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคเหนือ และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
    • เชื่อมโยงจังหวัดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคใต้ และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้กับกรุงเทพมหานครปละปริมณฑลและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โครงข่ายเส้นทางทางตอนบนของประเทศที่โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมีลักษณะเป็นระบบตาราง เส้นทาง MR1 จะมีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดนครปฐม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองหลักและประตูการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยได้ ส่วนเส้นทางตอนล่างของประเทศที่โครงข่ายมีลักษณะเป็นแกนกระดูก เส้นทาง MR1 จะทำหน้าที่เป็นแกนกระดูกและมีทางแยกโครงข่ายไปยังฝั่งทะเล
อ่าวไทยและอันดามันบริเวณจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี

ระยะทาง
แนวเส้นทาง MR1 ระยะทางรวมประมาณ 2,108 กิโลเมตร แบ่งได้เป็น 13 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 เชียงราย-เชียงของ (ระยะทางประมาณ 86 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 เชียงราย-ด่านแม่สาย (ระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 เชียงใหม่-เชียงราย (ระยะทางประมาณ 217 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 พิษณุโลก-เชียงใหม่ (ระยะทางประมาณ 304 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 5 นครสวรรค์-พืษณุโลก (ระยะทางประมาณ 143 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 6 สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ (ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 7 นครปฐม-สุพรรณบุรี (ระยะทางประมาณ 71 กิโลเมตร)

ช่วงที่ 8 นครปฐม-ชะอำ (ระยะทางประมาณ 128 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 9 ชะอำ-ชุมพร (ระยะทางประมาณ 337 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 10 ชุมพร-สุราษฎร์ธานี (ระยะทางประมาณ 131 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 11 สุราษฎร์ธานี-สงขลา (ระยะทางประมาณ 231 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 12 สงขลา-สะเดา (ระยะทางประมาณ 69 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 13 สงขลา-นราธิวาส (ระยะทางประมาณ 249 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR1: เชียงราย-นราธิวาส

MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประตูการค้าทางทะเลหลักของประเทศที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี กับด่านชายแดนไทย-สปป. ลาว ที่ด่านหนองคาย จังหวัดหนองคาย ร่วมกับรูปแบบรัศมีที่เชื่อมโยงออกจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเชื่อมโยงไปถึงด่านชายแดนไทย-ลาวที่หนองคาย เส้นทางส่วนที่เป็นรัศมีจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะบรรจบกับเส้นทางส่วนเหนือ-ใต้ บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศที่ชายแดนจังหวัดหนองคายสามารถเชื่อมต่อทั้งระบบถนนตามทางหลวงเอเชียเส้นทาง AH12 หรือ เส้นทาง R13 ของ สปป.ลาว และระบบรางทั้งรถไฟขนาดทาง 1.00 เมตร ในปัจจุบัน และรถไฟขนาดทางมาตรฐานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และฐานการผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง (อาทิ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี) กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี
    • เชื่อมโยงประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ ด่านหนองคาย (ไทย-ลาว) และประตูการค้าหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย คือ ท่าเรือแหลมฉบัง
    • สอดคล้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) ของกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) (เป็นส่วนที่เพิ่มเติมจากแนวคุนหมิง-เชียงราย-กรุงเทพฯ) และเป็นเส้นทางตามยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่ได้มีการก่อสร้างโครงข่ายทางรถไฟจากจีนเชื่อมต่อมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว และเปิดให้บริการแล้ว ส่วนที่ต่อเชื่อมจากนครหลวงเวียงจันทน์และเส้นทางภายในประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ โดยเส้นทางภายในประเทศไทยเป็นเส้นทางเดียวกับโครงข่าย MR2
    • เชื่อมโยงจังหวัดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

   โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางกรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย (MR2) ส่วนแรกได้แก่ ทางพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) เป็นโครงข่ายรัศมีออกจากกรุงเทพมหานคร ต่อจากเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MR10) ซึ่งเป็นเส้นทาง ส่วนต่อขยายทางพิเศษอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ปัจจุบันทางพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการ โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เส้นทางส่วนนี้ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา  
       สำหรับเส้นทางส่วนที่ 2 เป็นเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงประตูการค้าระหว่างประเทศระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับด่านชายแดนหนองคาย เป็นเส้นทางที่พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งหมด เส้นทางส่วนนี้ผ่านพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี และหนองคาย

ระยะทาง
แนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคายมีระยะทางรวมประมาณ 894 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 196 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทางประมาณ 312 กิโลเมตร ซึ่งแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคายแบ่งออกได้เป็น 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 างปะอิน-นครราชสีมา
ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-ขอนแก่น (ระยะทางประมาณ 156 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 ขอนแก่น-หนองคาย  (ระยะทางประมาณ 216 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี (ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 5 ปราจีนบุรี-นครราชสีมา (ระยะทางประมาณ 166 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR2: กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย

MR3 ร้อยเอ็ด-บึงกาฬ (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุดเริ่มต้นทางตอนเหนือ เริ่มจากด่านชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดบึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังถนน R13 ของ สปป.ลาว ที่ใช้เป็นเส้นทางต่อไปยังถนน R8 ตามแนวทางหลวงเอเชียสาย AH15 เพื่อไปยังเวียดนาม ส่วนจุดปลายทางทางด้านใต้อยู่ที่ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่านชายแดนโอสะมัก อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ของฝั่งกัมพูชา เชื่อมต่อกับถนนสาย 68 ของกัมพูชา และอีกแห่ง คือ ที่ด่านช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับด่านศุลกากรช่องจอม อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย ของฝั่งกัมพูชา เชื่อมต่อกับถนนสาย 66 ของกัมพูชา ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมไปยังจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
    • เชื่อมโยงเมืองระดับกลางตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มีแผนพัฒนาในช่วงปี พ.ศ. 2576-2580 ได้แก่ ร้อยเอ็ด และสกลนคร
    • เชื่อมโยงประตูการค้าที่ด่านชายแดนไทย-ลาว ที่บึงกาฬ และที่ด่านขายแดนไทย-กัมพูชา
      ที่ช่องจอม (สุรินทร์) และช่องสะงำ (ศรีสะเกษ)

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางบึงกาฬ-สุรินทร์ (MR3) มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ มีระยะทางรวมประมาณ 544 กิโลเมตร  โดยมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทางประมาณ 470 กิโลเมตร
แนวเส้นทาง MR3 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายกับเส้นทางในแนวตะวันออก-ตะวันตก 4 แห่ง ได้แก่ (1) ทางแยกไปเชื่อมต่อเส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) ในจังหวัดอุดรธานี (2) ตัดกับเส้นทาง MR4 (ตาก-นครพนม) ในจังหวัดร้อยเอ็ด (3) ตัดกับเส้นทาง MR5 (นครสวรรค์-อุบลราชธานี) ในจังหวัดสุรินทร์ และ (4) มีทางแยกแนวเส้นทางไปยังด่านช่องสะงำ ในจังหวัดสุรินทร์ 

ระยะทาง
เส้นทางเส้นทาง ร้อยเอ็ด-บึงกาฬ มีระยะทางรวม 479 กิโลเมตร สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาแบ่งได้เป็น 4 ช่วง ได้ดัง

ช่วงที่ 1 ร้อยเอ็ด-บึงกาฬ (ระยะทางประมาณ 252 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 ร้อยเอ็ด-สุรินทร์ (ระยะทางประมาณ 122 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 สุรินทร์-ช่องจอม (ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร)

ช่วงที่ 4 สุรินทร์-ช่องสะงำ (ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR3: บึงกาฬ-สุรินทร์

MR4 ตาก-นครปฐม (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทางฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงด่านชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย/ตองยิน แห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนทางฝั่งตะวันออกเชื่อมโยงด่านชายแดนไทย-ลาว ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร–สะหวันนะเขต) อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เส้นทางผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อาทิ พิษณุโลก และขอนแก่น)
    • เชื่อมโยงประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านตะวันตก ได้แก่ ด่านแม่สอด (ไทย-เมียนมา) และประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านตะวันออก ได้แก่ ด่านมุกดาหาร และด่านนครพนม (ไทย-ลาว) ซึ่งทั้ง 3 แห่ง เป็นด่านการค้าระหว่างประเทศทางบกที่มีปริมาณและมูลค่าการขนส่งสินค้าสูง
    • สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ตามโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)
    • เชื่อมโยงจังหวัดภายในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

      ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางตาก-นครพนม (MR4) มีระยะทางรวมประมาณ 824 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) มีระยะทางประมาณ 415 กิโลเมตร ตลอดแนวเส้นทาง MR4 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ที่จังหวัดสุโขทัย เชื่อมต่อเส้นทาง MR1 (เชียงราย-นราธิวาส) ช่วงจากสุโขทัยไปเชียงใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลก เชื่อมต่อเส้นทาง MR1 (เชียงราย-นราธิวาส) ช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก ที่จังหวัดขอนแก่น เชื่อมต่อเส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) และที่จังหวัดร้อยเอ็ด เชื่อมต่อเส้นทาง MR3 (บึงกาฬ-สุรินทร์)

ระยะทาง
แนวเส้นทาง MR 4 มีระยะทางทั้งหมด 870 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบรางทั้งหมด 435 กิโลเมตร สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาทั้ง 5 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 ด่านแม่สอด-ตาก (ระยะทางประมาณ 73 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 ตาก-พิษณุโลก (ระยะทางประมาณ 115 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ (ระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 เพชรบูรณ์-ขอนแก่น (ระยะทางประมาณ 222 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 5 ขอนแก่น-มุกดาหาร-นครพนม (ระยะทางประมาณ 337 กิโลเมตร) 

ภาพแนวเส้นทาง MR4: ตาก-นครพนม

MR5 กาญจนบุรี-อุบลราชธานี (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์ทางด้านตะวันตก และ ด่านชายแดนไทย-ลาว ในจังหวัดอุบลราชธานี ทางด้านตะวันออก โดยแนวเส้นทางเชื่อมโยงทั้งที่ด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในปัจจุบันที่ใช้เชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยกับลาวตอนใต้ และที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 นาตาล-สาละวัน ที่มีแผนการจะก่อสร้างขึ้นในอนาคต
การกำหนดแนวเส้นทางได้ปรับเปลี่ยนจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางตามนโยบายการบูรณาการที่กำหนดไว้ที่ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากเหตุผลด้านข้อจำกัดของพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นมรดกโลก และความต้องการในการเดินทางและขนส่งและโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ ในการเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งไปยังด่านชายแดนไทย-เมียนมา สามารถใช้โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อไปยังด่านแม่สอดและด่านพุน้ำร้อนได้

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองขนาดกลางในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ อุบลราชธานี
    • เชื่อมโยงประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด่านพรมแดนไทย-ลาว
      ที่ด่านช่องเม็ก ซึ่งเชื่อมไปยังเมืองปากเซ เมืองหลักของลาวตอนใต้ และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 นาตาล-สาละวัน (ในอนาคต) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงการค้าไปยังเมืองเว้และดานังของประเทศเวียดนาม

     ตลอดแนวเส้นทาง MR5 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เชื่อมต่อเส้นทาง MR1 (เชียงราย-นราธิวาส) ที่จังหวัดนครราชสีมา เชื่อมต่อเส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) ที่จังหวัดสุรินทร์ เชื่อมต่อเส้นทาง MR3 (บึงกาฬ-สุรินทร์) และที่จังหวัดอุบลราชธานี มีทางแยกของเส้นทางเพื่อไปยังด่านชายแดน 2 แห่ง ได้แก่ ด่านช่องเม็ก และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 นาตาล-สาละวัน

ระยะทาง
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางนครสวรรค์-อุบลราชธานี (MR5) มีระยะทางรวมประมาณ 711 กิโลเมตร  โดยเสนอให้พิจารณาบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง ตามนโยบาย MR-MAP ตลอดเส้นทาง สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-ชัยภูมิ-นครราชสีมา (ระยะทางประมาณ 247 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-อุบลราชธานี (ระยะทางประมาณ 282 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 อุบลราชธานี-ด่านช่องเม็ก (ระยะทางประมาณ 76 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 อุบลราชธานี-สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่6 (ระยะทางประมาณ 117 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR5: กาญจนบุรี-อุบลราชธานี

MR6 กาญจนบุรี-สระแก้ว (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมโยงชายแดนไทย-เมียนมา ที่ด่านพุน้ำร้อน อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทางด้านตะวันตก กับ ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ด่านอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ทางด้านตะวันออกของประเทศ ผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เส้นทางแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

    1. เส้นทางทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร: เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 2 ด้านตะวันตก) ไปยัง ด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี
    2. เส้นทางทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร: เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 2 ด้านตะวันออก) ไปยังด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

การเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางระหว่างสองฝั่งเพื่อผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลใช้โครงข่ายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับ ประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านตะวันออก ที่ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมโยงการค้าการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับกัมพูชา
    • เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับ ประตูการค้าและเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางด้านตะวันตกที่มีศักยภาพในอนาคต ที่ด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ในเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคที่มีแผนจะพัฒนาขึ้นในอนาคต
    • สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) แนวระเบียงย่อยกลาง (Central Sub-corridor) ของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)
    • สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของไทย โดยเชื่อมโยงเมืองในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC) และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก กับ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนด้านตะวันตก (เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี) และพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางกาญจนบุรี-สระแก้ว (MR6) มีระยะทางรวมประมาณ 391 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว มีช่วงเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน คือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร มีช่วงที่เป็นทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 17 กิโลเมตร คือ ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) และมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) ระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร

ตลอดแนวเส้นทาง MR6 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ประกอบด้วย

    • ทางแยกกาญจนบุรี-พุน้ำร้อน จากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)
    • จุดตัดของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในแนว MR6 (M81) กับวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 (M91) ด้านตะวันตก
    • จุดตัดของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในแนว MR6 (M81) กับวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 2 หรือถนนกาญจนาภิเษก (M9) ด้านตะวันตก
    • จุดตัดของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในแนว MR6 (M71) กับวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 2 หรือถนนกาญจนาภิเษก (M9) ด้านตะวันออก
    • จุดตัดของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในแนว MR6 (M71) กับวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 (M91) ด้านตะวันออก
    • จุดตัดของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในแนว MR6 (M71) กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
      ในแนว MR2 (M61 : แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี)

ระยะทาง
แนวเส้นทาง MR 6 มีระยะทางทั้งหมด 391 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี) 96 กิโลเมตร และเส้นทางตามแผนในอนาคต 294 กิโลเมตร  สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาในแต่ละช่วงได้ดัง

ช่วงที่ 1 บางใหญ่-กาญจนบุรี (ระยะทางประมาณ 96 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 กาญจนบุรี-พุน้ำร้อน (ระยะทางประมาณ 82 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 จตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) (ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 4 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก)-ปราจีนบุรี (ระยะทางประมาณ 102 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 5 ปราจีนบุรี-สระแก้ว(อรัญประเทศ) (ระยะทางประมาณ 93 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR6: กาญจนบุรี-สระแก้ว

MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด เส้นทางเริ่มจากกรุงเทพมหานครที่ปลายทางพิเศษศรีรัช ส่วน D และถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร โดยที่จังหวัดชลบุรีแนวเส้นจะแยกเป็น 2 เส้นทาง โดยมีจุดปลายทางหนึ่งที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และอีกจุดปลายทางหนึ่งที่ด่านคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด

ความสำคัญของแนวเส้นทาง
เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นที่ตั้งของฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ท่าเรือน้ำลึกที่เป็นประตูการค้าทางทะเลหลักของประเทศ

    • ท่าอากาศยานนานาชาติ และเมืองการบินภาคตะวันออก ฯลฯ
    • รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
    • เชื่อมโยงชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด และเขตเศรษฐกิจพิเศษตราด
    • สอดคล้องกับแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) แนวระเบียงย่อยเลียบชายฝั่งด้านใต้ (Southern Coastal Sub-corridor) ของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS)

โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด (MR7) มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 466 กิโลเมตร ดังรูปที่ 4.4-14 ผ่านพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ปัจจุบันมีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ระยะทาง 181 กิโลเมตร
ส่วนเส้นทางที่เป็นแผนพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต ได้แก่ ช่วงชลบุรี-ตราด ซึ่งเป็นทางแยกจากเส้นทางที่เปิดให้ริการแล้วบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยะทาง 285 กิโลเมตร และมีช่วงเส้นทางที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) ระยะทางประมาณ 192 กิโลเมตร แนวเส้นทาง MR7 มีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กับเส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) บริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

ระยะทาง
แนวเส้นทาง MR 7 มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 460 กิโลเมตร แบ่งเป็นเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายกรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด) 181 กิโลเมตร และเส้นทางตามแผนในอนาคต 278 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด แบ่งเป็น 2 ช่วง โดยเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบรางทั้งหมด มีระยะทาง 180 กิโลเมตร สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาในแต่ละช่วงได้ดัง

ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง (ระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 ชลบุรี-ระยอง (ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 3 ระยอง-ตราด (ด่านคลองใหญ่) (ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR7: กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด

MR8 ชุมพร-ระนอง (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ 2 แห่ง ที่มีแผนจะพัฒนาขึ้นตามนโยบายการพัฒนา Land Bridge ชุมพร-ระนอง อันประกอบด้วย ท่าเรือทางฝั่งอ่าวไทยบริเวณจังหวัดชุมพร และท่าเรือทางฝั่งอันดามันบริเวณจังหวัดระนอง

ความสำคัญของเส้นทาง
เชื่อมโยงเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ได้แก่ ชุมพร และ ระนอง

    • แนวเส้นทางรองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย และ Land Bridge ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าใหม่ (New Trade Lane) เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากเดิมที่ต้องขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกา รวมทั้ง กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ SEC และ พื้นที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประเทศจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ระดับสูง
    • รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดระนองและภาคใต้ฝั่งอันดามันตอนล่าง ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางและขนส่ง แบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4

      แนวเส้นทางวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก โดยตัดกับแนวเส้นทาง MR1 (เชียงราย-นราธิวาส) ซึ่งเป็นเส้นทางแกนกระดูกในภาคใต้บริเวณอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทาง MR8 คือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางชุมพร-ระนอง (M83) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

จังหวัดที่แนวเส้นทางพาดผ่าน  2 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง

ระยะทาง  89 กิโลเมตร

รูปแบบการพัฒนา 
พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยบูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับทางรถไฟสายใหม่ 2 ระบบ คือ ทางรถไฟ Land Bridge ที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ และ ทางรถไฟในโครงข่ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย แนวเส้นทางจะเริ่มที่บริเวณแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และสิ้นสุดที่อ่าวอ่าง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมีจุดเชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับเส้นทางนครปฐม-นราธิวาส (M8) บริเวณอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

ภาพแนวเส้นทาง MR8: ชุมพร-ระนอง

MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันกับพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย บริเวณตอนกลางของภาคใต้ โดยแยกออกจากแนวแกนหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในภาคใต้ (เส้นทาง นครปฐม-นราธิวาส หรือ M8) บริเวณอำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากโครงข่ายหลักไปยังอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำหรับการท่องเที่ยวทางทะเลทางฝั่งอ่าวไทย และไปยังกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวอันดามัน ได้แก่ พังงา และภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
    • เชื่อมโยง 2 เมืองหลักภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และ ภูเก็ต
    • เชื่อมโยงพื้นที่ท่องเที่ยวระดับโลก กับ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)

      โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแนวเส้นทางสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต (MR9) ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต รวมระยะทางประมาณ 252 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางเสนอให้พัฒนาโดยใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) ระยะทางประมาณ 155 กิโลเมตร

ระยะทาง
แนวเส้นทางรวมระยะทางรวมประมาณ 252 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบรางประมาณ 155 กิโลเมตร สามารถสรุปแนวทางการพัฒนาในแต่ละช่วงได้ดังนี้

ช่วงที่ 1 สุราษฎร์ธานี-พังงา (ระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร)
ช่วงที่ 2 พังงา-ภูเก็ต (ระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตร)

ภาพแนวเส้นทาง MR9: สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต

MR10 วงแหวนรอยนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (อัพเดตวันที่ 28/10/65)

MR10 เป็นเส้นทางในระบบรัศมีและวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย

  1. เส้นทางที่เปิดใช้งานแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก หรือ ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (M9) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
  2. เส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-ปากท่อ (M82) ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว
  3. เส้นทางที่อยู่ในแผนการพัฒนา ได้แก่
    • เส้นทางวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (M91)
    • เส้นทางรังสิต-หนองคาย (M6) ช่วงทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน
    • เส้นทางบางขุนเทียน-ปากท่อ (M82) ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ
    • เส้นทางบางปะอิน-สุพรรณบุรี (M53)

โครงข่ายเส้นทาง MR10 มีระยะทางรวม 683 กิโลเมตร (รวมวงแหวนด้านตะวันตกช่วงนครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 85 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางช่วงเดียวกับเส้นทาง MR1 เชียงราย-นราธิวาส) โครงข่ายผ่าน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง และ สมุทรสาคร เป็นเส้นทางที่เสนอเป็นแผนพัฒนาเพิ่มจากโครงข่ายที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน 472 กิโลเมตร และมีช่วงเส้นทางที่เสนอให้พัฒนาโดยบูรณาการการใช้เขตทางร่วมกับระบบรางตามแนวนโยบายบูรณาการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-MAP) ระยะทางประมาณ 257 กิโลเมตร (รวมวงแหวนด้านตะวันตกช่วงนครปฐม-สุพรรณบุรี)

ความสำคัญของแนวเส้นทาง :

    • รองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพมหานคร แบ่งแยกและกระจายการจราจรที่ต้องการเดินทางผ่านพื้นที่ และการเดินทางระยะสั้นในพื้นที่ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
    • เชื่อมโยงการจราจรเข้า-ออก กรุงเทพมหานคร กับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ
    • การบูรณาการการพัฒนาร่วมกับระบบราง ซึ่งมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เชื่อมโยงโครงข่ายและลดปัญหาคอขวดของระบบ จะช่วยลดการเวนคืนและการลงทุนของรัฐในภาพรวม

รายละเอียดแต่ละช่วง มีดังนี้

เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านเหนือ) ช่วง สุพรรณบุรี-ทล.32 (35 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ช่วง ทล.32-ทล.305 (70 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ช่วง ทล.305-ทล.34 (52 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านใต้) ช่วง ทล.34 – ทล.35 (77 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันตก) ช่วง ทล.35-นครปฐม (28 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ช่วงส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วง รังสิต-บางปะอิน (22 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ช่วง บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (25 กิโลเมตร)
เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ช่วง บ้านแพ้ว-ปากท่อ (47 กิโลเมตร)
เส้นทาง ส่วนต่อขยายทางพิเศษอุดรรัถยา ช่วง บางปะอิน-สุพรรณบุรี (57 กิโลเมตร

ภาพแนวเส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3

Powered by WordPress Inspiro WordPress Theme by WPZOOM
waktogel togelup aye4d
bocoran rtp slot gacor maxwin sbobet togel kamboja